Skip to main content

Featured

[Wrap Up + Replay] 2400 Inner System Blue : Missing Cyber Doc

หน้าปกเกม 2400 : Inner System Blues Introduction เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนปีที่แล้วหลังจากที่เราห่างหายการรัน TRPG ไปนานราวๆ 3 เดือน เราคิดว่าจะลองรันแบบ Play by Post หรือการ TRPG ผ่านทางการพิมพ์หรือการตั้งกระทู้ดู น่าจะเหมาะกับไลฟ์สไตล์หลังจากที่สถานการณ์โควิดดีขึ้นจนมีเวลาว่างไม่มากเท่าแต่ก่อน หลังจากทำการค้นข้อมูลสักพักจากเว็บบอร์ดต่างประเทศ รวมทั้งคลิป Youtube ที่แชร์ประสบการณ์การ Play by Post ทั้งที่ประสบความสำเร็จและที่ล้มเหลว เราก็ได้เลือกระบบเกมและร่างพล็อตของเกมขึ้นมา หลังจากนั้นจึงรับสมัครผู้เล่นใน Discord ของกลุ่ม Onion Knight Table  และเล่นกันในกลุ่ม เริ่มเล่นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ลากยาวมาจนจบในช่วงเดือนธันวาคม รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต : วีรพร นิติประภา

หลังจากร้างลาจากวงกรวรรณกรรมไปนานมากเราก็กลับมาใหม่อีกครั้ง จึงได้หนังสือมาสี่เล่มคือ น้ำเงินแท้ - วินทร์ เลียววาริณ , ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตและพุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ- วีรพร นิติประภา ,สวนสัตว์กระดาษและเรื่องสั้นอื่นๆ - Ken Liu

เรื่องแรกที่อยากนำมาเล่าคือ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ที่เราเพิ่งอ่านจบไป เล่นนี้ได้รางวัลซีไรต์ปี 58 คือเอาจริงๆอ่านจนจบแล้วก็จับประเด็นไม่ค่อยได้หรอกว่าเขาพูดถึงอะไรบ้างแต่ที่แน่ๆคือภาษาสวยมาก คือเป็นลักษณะการใช้คำที่ค่อนข้างเยอะและซ้ำซ้อนแต่ขับเน้นรายละเอียดของอารมณ์ต่างๆออกมาได้อย่างบีบคั้นที่สุด

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ; วีรพร นิติประภา ; พิมพ์ครั้งที่ 18 ; สำนักพิมพ์มติชน สิงหาคม 2562

เรื่องย่อและลักษณะโดยรวมของงานเขียน

เป็นเรื่องราวชีวิตและรักสามเส้าของเด็กกำพร้าสามคน ปราณ, ชลิกา และ ชารียา กับการดำเนินชีวิตไปบนโลกนี้ด้วยจิตใจที่เว้าแหว่งและผุกร่อน อะไรประมาณนั้น เป็นแนว Magical Realism หรือที่ภาษาวิชาการเขาเรียกว่า “สัจนิยมมหัศจรรย์” ประมาณว่าคนในโลกนิยายมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเหนือจริงต่างๆอย่างธรรมดาสามัญ เรื่องเหนือจริงในชีวิตจริงคือเรื่องปกติของคนในนิยาย อะไรประมาณนั้น ซึ่งเรื่องพวกนี้ก็มีหลายแนวนะ อย่างที่คนแนะนำกันบ่อยๆก็เรื่อง The Metamorphosis ของคาฟกา ที่คนตื่นมาแล้วกลายเป็นแมลง หรือถ้าเอาที่เราเคยอ่านมาก็คือ 1Q84 ของมูราคามิ

และคำอธิบายที่สั้นกระชับที่สุดของเรื่องคงหนีไม่พ้นคำโปรยบนปกแรกสุด

"น้ำเน่า ร้าวราน สามเส้า เพ้อฝัน...มายาคติแสนธรรมดาของเรื่องรักกับความขัดแย้ง"

เล่าให้ฟังหลังจากอ่าน

การเล่าเรื่องไม่เรียงช่วงเวลาเสียทีเดียว คือจะมีเส้นเวลาหลักแต่ตัดสลับไปมาในแต่ละช่วงเวลาเพื่อคลายปมที่คนเขียนทิ้งไว้ให้ในเส้นเวลาหลัก นอกจากนี้ก็ยังมีอีกสิ่งที่ผู้เขียนมักใช้ในการเล่าคือการกล่าวถึงโศกนาฏกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก่อนจะดำเนินเรื่องต่อไปเพียงเพื่อจะให้คนเขียนรับรู้ว่าความบรรลัยที่จะเกิดแน่ๆนั้นจะเกิดในลักษณะไหน และเกิดจากอะไร พลางใช้ถ้อยคำรุ่มรวยและเงื่อนไขเหนือจริงบางอย่างของตัวละครคอยบีบอารมณ์ผู้อ่านเป็นระยะ สร้างผลกระทบต่อความรู้สึกค่อนข้างมากโศกนาฏกรรมบังเกิด เป็นความรู้สึกที่ปนเปกันระหว่างความร้าวรานและความโล่งอกที่สุดท้ายชิ้นส่วนต่างๆของเรื่องราวนั้นก็ประกอบเข้าที่เป็นภาพโศกนาฏกรรมที่สมบูรณ์ แต่ก็ทำให้รู้สึกหน่วงหนักในจิตใจเสียจนต้องปิดหนังสือเพื่อสงบจิตสงบใจก่อนกลับมาอ่านต่อ

แม้เส้นเวลาจะไม่สับสน แต่สำหรับคนที่ไม่มีพื้นเพเกี่ยวกับประเด็นทางแนวคิดและสังคมศาสตร์มาก่อนจะค่อนข้างสับสนว่าแก่นเรื่องและข้อความที่ซ่อนเอาไว้คืออะไร ซึ่งเราเองก็แกะไม่ออก ต้องไปไล่อ่านพวกบทสัมภาษณ์และบทวิจารณ์เอาเพื่อจะพอมองเห็นภาพลางๆ แต่สุดท้ายเราก็สามารถอ่านไปได้เรื่อยๆจนโดยไม่ต้องสนว่าเรื่องมันจะดำเนินไปในทิศทางไหนและเพื่ออะไร เพียงแค่ดูตัวละครพวกนี้โดนดูดเข้าหาโศกนาฏกรรมต่างๆไปเรื่อยๆและคอยรู้สึกสะทกสะท้อนร้าวรานอันเนื่องมาจากเรื่องราวและภาษา (ซึ่งแค่นี้ก็รู้สึกว่าคุ้มค่าหนังสือแล้ว) เอาจริงๆไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตนี่มันอาจเป็นตัวผู้อ่านเองก็ได้นะ

ส่วนเรื่องการบรรยายและการ reference ต่างๆนับว่าทำและเรียบเรียงออกมาได้ดี คือบรรยายเยอะมาก แต่ไม่รู้สึกว่าเยอะเกินหรือยัดเยียดรายละเอียด เท่าที่อ่านนับว่าผู้เขียนนั้นเป็นคนที่รุ่มรวยวัฒนธรรมมาก คือสารภาพว่าทุกเพลงคลาสสิคหรือโควทที่มีการอ้างอิงมา เราไม่รู้จักเลยสักอัน คือเราว่าเพียงแค่ฉากและของประกอบฉากมันก็ทำให้เรารู้สึกตื่นตาตื่นใจได้แล้ว

สรุป

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตเป็นวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) ที่อ่านไม่ยากและมีจุดเด่นในการใช้ภาษาที่สละสลวยและสะเทือนอารมณ์ เส้นเรื่องเน้นการสำรวจภายในจิตใจของตัวละครเป็นหลัก หากอ่านเพื่อซึมซาบอารมณ์และเพื่อสะเทือนใจนับว่าตอบโจทย์ แต่ถ้าจะอ่านเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้และแก่นเรื่องอาจต้องมีพื้นเพทางด้านประเด็นทางสังคมศาสตร์มาบ้าง หรือไม่ก็ต้องอาศัยบทสัมภาษณ์ของตัวนักเขียนเองมาประกอบ

นับเป็นวรรณกรรมที่น่าอ่านเล่มหนึ่ง แม้จะสามารถอ่านได้ทุกคนแต่ก็ใช่ว่าจะเหมาะกับทุกคน แต่ก็แนะนำให้หามาอ่านกันดู แค่เสพการใช้ภาษาก็นับว่าคุ้มค่าเวลาอ่านแล้ว

NOTE

พอเขียนถึงประเด็นเรื่องวัฒนธรรมต่างๆก็เกิดอยากลองหาวรรณกรรมที่เขียนโดยคนรุ่นราวคราวเดียวกับเราดู เราหมายถึงแนวที่ไม่ใช่นิยายแฟนตาซีแต่เป็นแนวที่มีการอ้างอิงและสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ในยุคนี้หรือยุคก่อนหน้านี้ไม่นานออกมา เราอยากรู้เหมือนกันว่าการอ้างอิงบทเพลงและโควทต่างๆจะเป็นอย่างไร จะรุ่มรวยมีเสน่ห์เหมือนกับในเรื่องนี้หรือไม่ ไว้เราได้ลองอ่านแล้วจะลองมาเล่าให้ฟัง

นอกจากนี้ ดูเหมือนประเด็นหลักๆของเรื่องจะอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า "มายาคติ" ซึ่งเราเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคำศัพท์นี้มันมีความหมายว่าอย่างไร คุ้นๆว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องบางอย่างที่สังคมยอมรับว่ามันถูกต้องหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจนัก เป็นอีกเรื่องที่น่าจะได้มาคุยกันยาวๆในครั้งหน้า

Comments