Skip to main content

Featured

[Wrap Up + Replay] 2400 Inner System Blue : Missing Cyber Doc

หน้าปกเกม 2400 : Inner System Blues Introduction เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนปีที่แล้วหลังจากที่เราห่างหายการรัน TRPG ไปนานราวๆ 3 เดือน เราคิดว่าจะลองรันแบบ Play by Post หรือการ TRPG ผ่านทางการพิมพ์หรือการตั้งกระทู้ดู น่าจะเหมาะกับไลฟ์สไตล์หลังจากที่สถานการณ์โควิดดีขึ้นจนมีเวลาว่างไม่มากเท่าแต่ก่อน หลังจากทำการค้นข้อมูลสักพักจากเว็บบอร์ดต่างประเทศ รวมทั้งคลิป Youtube ที่แชร์ประสบการณ์การ Play by Post ทั้งที่ประสบความสำเร็จและที่ล้มเหลว เราก็ได้เลือกระบบเกมและร่างพล็อตของเกมขึ้นมา หลังจากนั้นจึงรับสมัครผู้เล่นใน Discord ของกลุ่ม Onion Knight Table  และเล่นกันในกลุ่ม เริ่มเล่นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ลากยาวมาจนจบในช่วงเดือนธันวาคม รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน

พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ : วีรพร นิติประภา

เราห่างเหินกับวงการวรรณกรรมมาได้สักพักโดยเฉพาะกับวรรณกรรมสายรางวัลที่เราแทบไม่แตะมานานมากแล้ว อาจเพราะหน้าที่การงานและรสนิยมการเสพสื่อที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่สุดท้ายแล้วงานวรรณกรรมอันเป็นพื้นฐานที่สร้างกรอบความคิดให้เราก็ยังมีแรงดึงดูดให้เรากลับไปหามันอยู่เสมอ

นวนิยายเรื่องนี้น่าจะเป็นนวนิยายที่ชื่อเรื่องยาวที่สุดเท่าที่เราเคยอ่านมาแล้ว และเช่นเดียวกับ "ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต" งานของคุณวีรพรยังคงความร้าวรานในเรื่องราวแต่หวานซึ้งในภาษา และยังสามารถอ่านได้ทั้งในระดับของความบันเทิงและเพลิดเพลิน จนไปถึงการคิดต่อยอดไปยังประเด็นใหญ่ที่นำเสนอในนวนิยายเล่มนี้ มายาคติ - ความทรงจำ - ประวัติศาสตร์

กล่าวถึงมายาคติกันสักเล็กน้อย คำนี้มีความหมายภาษาอังกฤษว่า Mythology ซึ่งหมายถึงปรัมปราวิทยา Myth - ปรัมปรา มักไว้กล่าวถึงเรื่องเล่าที่เล่าต่อกันมาแต่โบราณ ส่วนความหมายจากคำไทยคือ ความเชื่อความเข้าใจผิดๆที่สืบเนื่องต่อกันมาในสังคม คล้ายกับเป็นความเชื่อที่ถูกสร้างมาเพื่อฉาบหน้าความจริงอีกทีหนึ่ง ลักษณะเดียวกับเรื่องเล่าปรัมปราที่มีอาจฉาบบดบังความจริงบางอย่างเอาไว้

จากบทสัมภาษณ์ คุณวีรพรเล่าว่าในนวนิยายเรื่องนี้อยากเล่าเรื่องของมายาคติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์เรานั่นคือความทรงจำ

พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ; วีรพร นิติประภา ; พิมพ์ครั้งที่ 3 ; สำนักพิมพ์มติชน ตุลาคม 2561 


เรื่องย่อและลักษณะโดยรวมของงานเขียน

เรื่องราวของพุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำนี้วางอยู่บนเรื่องราวของครอบครัวชาวจีนที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่บนแผ่นดินไทย ดำเนินเรื่องผ่านการแปรเปลี่ยนของเส้นทางชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลากหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องสงครามและการเมือง จะเรียกได้ว่าเป็นผลกระทบของการเมืองและสงครามต่อเส้นทางชีวิตของครอบครัวหนึ่งก็ไม่ผิดนัก หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพหน่อยก็คงคล้ายกับจังหวะของเรื่องสี่แผ่นดินที่คนอ่านเฝ้าดูชีวิตของแม่พลอยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและการเมือง (เน้นย้ำว่าเปรียบเทียบเฉพาะลักษณะการดำเนินเรื่องเท่านั้น ในส่วนขององค์ประกอบอื่นจะขอละไว้ อย่างไรก็ตามผู้เขียนเข้าใจว่านวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินนั้นโดยแก่นแล้วไม่ใช่การตั้งคำถาม หากคือความ Nostalgia และการส่งเสริมแนวคิดและทัศนคติบางประการต่อสถาบันการเมือง)

เช่นเดียวกับไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต การเล่าเรื่องยังคงรูปแบบของการเปิดเผยถึงโศกนาฏกรรมบางอย่างก่อนจะดำเนินเรื่องไปเพียงเพื่อเปิดเผยที่มาที่ไปของโศกนาฏกรรมเหล่านั้น เรื่องราวจะตัดสลับไปมาระหว่างเส้นเรื่องอันไม่มีที่มาที่ไปของ "หนูดาว" กับ "ยายศรี" และเรื่องราวของครอบครัวตั้งแต่ตาทวดตงมาตั้งรกรากในเมืองไทย ไล่เรียงตามลำดับเวลามาเรื่อยๆ โดยแต่จะเห็นเรื่องราวของมายาคติต่างๆแทรกอยู่ในเรื่องเสมอและในหลากหลายระดับ ทั้งในระดับของความเชื่อที่สืบต่อกันมา, ความเชื่อบางประการที่เพิ่งก่อร่างมาจากความร้าวรานในความทรงจำ ไปจนถึงเหตุการณ์บางอย่างในหน้า "ประวัติศาสตร์" ที่ทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามว่าหรือประวัติศาสตร์ที่เรารับรู้นั้นแท้จริงเป็นเพียงเรื่องเล่าที่ไม่ปะติดปะต่อที่นำมาเชื่อมโยงกันจนกลับกลายเป็นมายาคติขนาดใหญ่

เล่าให้ฟังหลังจากอ่าน (มานาน)

ในช่วงแรกหลังจากอ่านจบก็เช่นเดียวกันกับไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต คือไม่รู้เรื่องในระดับที่ลึกไปกว่าการดำเนินเรื่องและการใช้ภาษา เหตุผลหลักคือเราไม่เข้าใจคำว่ามายาคติแม้ว่าจะเป็นคำที่เริ่มใช้กันแพร่หลายในโลกอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปและเริ่มพบเจอคำนี้บ่อยๆจึงเริ่มจับทางได้ว่ามันมักหมายถึงความเชื่อความเข้าใจผิดๆในระดับสังคม มักเชื่อมโยงกับจารีตและประเพณีบางประการ สุดท้ายก็ได้นิยามตามที่เขียนเอาไว้ในช่วงเกริ่นนำ ซึ่งพอมาเป็นแกนหลักของเรื่องแล้วจึงทำให้เราต้องตั้งคำถามถึงความจริงของเรื่องราวที่ถูกความไม่ชัดเจนบางอย่างคลุมไว้ตลอดเรื่อง ซึ่งสุดท้ายแล้วเราจึงตัดสินใจเขียนโดยยึดโยงให้เกี่ยวข้องกับ "มายาคติ" ที่เป็นแกนของเรื่อง

มายาคติแรกที่จะกล่าวถึงคือเรื่องทัศนคติและความเชื่อของคนจีนโพ้นทะเล ด้วยความที่ตัวเองก็เกิดในครอบครัวคนจีน ดังนั้นเรื่องความเชื่อหรือธรรมเนียมบางอย่างมันจึงค่อนข้างคุ้นเคยแม้จะไม่ได้มีประสบการณ์โดยตรงแต่ก็ได้ยินได้ฟังมาค่อนข้างเยอะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นมายาคติหลักที่สร้าง conflict หลักของเรื่อง สร้างแผลในใจให้ตัวละครและเป็นแรงขับดันรุนแรงเบื้องหลังการตัดสินใจต่างๆของตัวละคร ซึ่งนอกจากมายาคติจากธรรมเนียมจีนแล้วก็ยังมีชุดความคิดบางอย่างที่เป็นมายาคติของฝั่ง "ราชการไทย" เช่นกัน ซึ่งมายาคติสองชุดนี้ก็มาสร้างความขัดแย้งให้เนื้อเรื่องอีกที โดยเฉพาะความขัดแย้งหลักในส่วนของ "จงสว่าง" และ "จิตไสว" และโศกนาฏกรรมหลังจากนั้น ซึ่งความขัดแย้งนี้มันชี้ไปหาประเด็นหนึ่งเดียวคือ "ความเป็นคนนอก" และ "ความพยายามที่จะกลมกลืน" ในส่วนนี้ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าคนที่ไม่ใช่ลูกคนจีนมาอ่านแล้วจะรู้สึกว่ามันมีความจริงอยู่ในเรื่องราวขนาดไหน แต่ในฐานะลูกหลานคนจีนโพ้นทะเลมันเป็นเรื่องจริงสำหรับเรา แต่ความจริงนี้ก็คงอยู่เพียงรูปแบบของความทรงจำที่สุดท้ายแล้วเมื่อกาลเวลาผ่านพ้นก็จะเลือนลางและกลับกลายเป็นเพียงเรื่องปรัมปราเท่านั้น

ส่วนเรื่องมายาคติส่วนบุคคลที่เกิดจากประสบการณ์นั้นทำหน้าที่เป็นความขัดแย้งภายในที่สร้างมิติและลักษณะเฉพาะให้กับตัวละครแต่ละตัว เช่นตาทวดตงที่เชื่อว่าคนในตระกูลต้องเสียชีวิตในน้ำและยายทวดเสงี่ยมที่เกลียดอีกาเข้าไส้ด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นสัญลักษณ์อัปมงคลเป็นต้น ส่วนลูกๆแต่ละคนก็จะมีมายาคติที่สะท้อนผ่านบุคลิกออกมาซึ่งจะคลี่คลายให้เห็นเมื่อถึงบทที่ตัวละครนั้นสร้างผลกระทบต่อเส้นเรื่อง

ในส่วนของประวัติศาสตร์นั้นปรากฏมาเพื่อยึดโยงเรื่องเล่าเข้ากับความเป็นจริงโดยให้รายละเอียดหลายอย่างในฐานะของข้อมูลดิบและข้อสังเกตุ เป็นสิ่งกระตุ้นให้เราอยากรู้ที่มาที่ไปและสภาพการณ์ของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่มักถูกละไว้ไม่พูดถึงในหนังสือเรียน

สำหรับหนูดาวกับยายศรีจะทำหน้าที่ในการปูเรื่องและสรุปเรื่องในแต่ละบทรวมทั้งรักษาบรรยากาศของความสงสัยให้คงอยู่ รวมทั้งเป็นที่มาของชื่อเรื่องอันยาวเหยียดนี้ด้วย

สรุป

ถือว่าเป็นนวนิยายขนาดยาว(มาก)แต่สามารถอ่านได้ต่อเนื่อง สะเทือนอารมณ์กับโศกนาฏกรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงของตัวละคร เต็มอิ่มกับการใช้คำใช้ภาษาที่สละสลวย จะต่อยอดไปคิดเรื่องของมายาคติหรือไม่ถือว่าเป็นเพียงทางเลือก แต่หลักๆแล้วมันทำให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับธรรมชาติของความจริงที่อาจจริงไม่เท่ากันในแต่ละบุคคลและการคงอยู่ของความจริงที่สังคมจดจำซึ่งบางทีก็ขัดแย้งกับความจริงที่รับรู้โดยตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคล

Comments