Skip to main content

Featured

[Wrap Up + Replay] 2400 Inner System Blue : Missing Cyber Doc

หน้าปกเกม 2400 : Inner System Blues Introduction เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนปีที่แล้วหลังจากที่เราห่างหายการรัน TRPG ไปนานราวๆ 3 เดือน เราคิดว่าจะลองรันแบบ Play by Post หรือการ TRPG ผ่านทางการพิมพ์หรือการตั้งกระทู้ดู น่าจะเหมาะกับไลฟ์สไตล์หลังจากที่สถานการณ์โควิดดีขึ้นจนมีเวลาว่างไม่มากเท่าแต่ก่อน หลังจากทำการค้นข้อมูลสักพักจากเว็บบอร์ดต่างประเทศ รวมทั้งคลิป Youtube ที่แชร์ประสบการณ์การ Play by Post ทั้งที่ประสบความสำเร็จและที่ล้มเหลว เราก็ได้เลือกระบบเกมและร่างพล็อตของเกมขึ้นมา หลังจากนั้นจึงรับสมัครผู้เล่นใน Discord ของกลุ่ม Onion Knight Table  และเล่นกันในกลุ่ม เริ่มเล่นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ลากยาวมาจนจบในช่วงเดือนธันวาคม รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน

[STORY] เมื่อกลับมาดู The Last Jedi อีกครั้ง

The Last Jedi Poster from : https://www.starwars.com/films/star-wars-the-last-jedi-poster-gallery


บทนำ

ในหัวข้อนี้จะเล่าถึงพื้นเพการดู Star Wars ของเรากันสักเล็กน้อยเพื่อให้พอมีไอเดียว่าทำไมถึงมีความคิดเห็นต่อ The Last Jedi ไปในทิศทางที่จะเขียนถึงต่อไปนี้

Star Wars ภาคแรกที่เราได้ดูคือภาค "ภัยซ่อนเร้น" หรือ "Phantom Menace" ตอนอายุ 7 ขวบ และหลังจากนั้นก็ได้ดู Clone Wars และ Revenge of the Sith ตามลำดับโดยไม่ได้รู้มาก่อนเลยว่ามันมี A New Hope, The Empire strikes back และ Return of The Jedi อยู่ด้วย กว่าจะมาได้ดูจริงๆจังๆก็ตอนที่ Star Wars ออก DVD Box set ของภาค 4,5,6 มานั่นแหล่ะถึงได้ไปซื้อมาดู ซึ่งตอนนั้นก็อายุเกิน 20 ไปแล้ว และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเริ่มปะติดปะต่อจักรวาลของ Star Wars ขึ้นมา

แน่นอนว่าสื่ออย่างอื่นอย่างพวกเกมหรือว่า Animation อย่าง Clone Wars หรือ Rebels ก็มีดูผ่านๆบ้าง หลักๆจะเน้นอ่าน Wikia เป็นข้อมูลเสียมากกว่า ดังนั้นจะเรียกเราว่าเป็นคนที่รุ้จัก Star Wars จากเพียงแค่ Skywalker Saga  และคำบอกเล่าจาก Fandom ก็คงจะไม่ผิดนัก

เอาจริงๆ เราก็สัมผัสกับ Pop culture ต่างๆผ่าน Wikia เป็นหลักอยู่แล้ว เสพตัวงานจริงๆน้อยมาก อย่างพวกประวัติตัวละครในรีวิวของเล่นที่เห็นใน Blog นี้ก็แปลมาจาก Wikia เป็นหลัก น้อยมากที่จะไปอ่าน Comic books จะไปเสพตัวงานจริงๆก็ต่อเมื่อมันเป็นภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงหรือไม่ก็มีให้ดูตาม Streaming Services ต่างๆ (แน่นอนว่าพอได้เสพงานจริงก็ไปอ่าน Wikia หาข้อมูลเพิ่มเติมต่ออีก)

ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าเราดู Star Wars ในสายตาของคนนอกและคนดูหนังทั่วไปที่บังเอิญรู้ข้อมูลเยอะกว่าปกติเท่านั้นก็ว่าได้ ดังนั้นเราจะไม่มีคะแนนแฟนบอยบวกเพิ่มแน่นอนเวลาดูหนัง

Credit pictures from https://starwarsscreencaps.com/star-wars-episode-viii-the-last-jedi-2017


ทำไม The Last Jedi เป็นหนัง Star Wars ที่ดีที่สุดในความคิดของเรา

เราขอสปอยล์ทุกอย่างเลยก็แล้วกันเพราะหนังก็นานมาแล้ว เอาจริงๆเราว่าเราเขียน entry นี้ช้าไปหลายปีเลยทีเดียว 

เรื่องเกิดขึ้นหลังจากภาค The Force Awakens ไม่นานนัก เนื้อเรื่องจะแยกเป็นสามส่วนก่อนจะมาบรรจบกันในตอนท้าย ส่วนแรกคือส่วนของกองยานฝ่ายต่อต้านที่ต้องหนีการไล่ล่าของกองยาน First Order ส่วนที่สองคือส่วนของเรย์ที่ต้องไปเรียนวิชาเจไดและตาม ลุค สกายวอล์คเกอร์ ให้กลับไปช่วยฝ่ายต่อต้าน และส่วนที่สามคือฟินน์กับโรสที่ต้องไปตามหานักถอดรหัสในตำนานมาเพื่อลักลอบเช้าไปในยานของสโนคเพื่อปิดระบบติดตามผ่านความเร็วแสง เพื่อที่กองยานฝ่ายต่อต้านจะได้หนีไปได้

เรื่องราวคร่าวๆเป็นประมาณนั้น setting มาปกติของหนัง Star wars มีภารกิจ มีการลอบเร้น มีการฝึกวิชาเจได เอาจริงๆมันก็มีโครงสร้างของ The empire strikes back ตรงที่กลุ่มตัวเอกต้องแยกย้ายกันไปทำภารกิจในส่วนของตัวเองนั่นเอง (แถมโทนของภาคยังมีความมืดมนและอับจนหนทางเหมือนกันอีก)

แต่สิ่งที่เด็ดที่สุดของหนังเรื่องนี้สามารถอธิบายด้วยประโยคที่เราเคยได้ยินจากเพื่อนหลังจากที่ดูจบใหม่ๆว่า “ภาคนี้เป็น Star Wars ภาคที่ภารกิจทุกอย่างล้มเหลว” คือมันล้มเหลวทุกอย่างจริงๆ และความเสียหายที่ตามมาก็เรียกได้ว่ามหาศาลในระดับที่สร้างความสิ้นหวังให้กับทั้ง Galaxy เลยทีเดียว แต่ความล้มเหลวนี่เองที่ผลักดันตัวละครทั้งหมดให้เติบโตและผลักให้หนังไปไกลกว่าเดิม มันก้าวเข้าสู่ความเป็นภาพยนตร์ที่เติมเต็มความสุนทรีย์ในหลากหลายมิติมากขึ้น

ในภาคนี้มีหลายประเด็นที่พูดถึงในแง่มุมที่ต่างออกไปจากภาคก่อนๆซึ่งมันทำให้ตัวหนังลดความเข้มข้นของความเป็นหนังเฟรนไชส์ลงและเข้าถึงคนดูหนังได้มากขึ้น แน่นอนว่าประเด็นเหล่านี้นี่เองที่ทำให้คะแนนนักวิจารณ์ของ The Last Jedi นั้นสูงมาก แม้คะแนน audience มันจะต่ำมากเนื่องจากการ deconstruction ของตัวหนังก็ตาม ซึ่งเราได้แยกไว้เป็นข้อๆว่ามันแตกต่างจากเดิมอย่างไร

ความสมเหตุสมผลของเนื้อเรื่องและการตัดสินใจของตัวละคร

  • ประเด็นที่ดีอย่างแรกคือเรื่องความสมเหตุสมผล แผนการณ์ทุกอย่างที่ควรจะล้มเหลว แผนที่ไม่มีการประเมินอะไรใดๆ คิดแต่จะออกไปเสี่ยงโดยไม่คิดถึงผลที่จะตามมา  ก็ควรได้ผลลัพธ์แบบนี้ และที่สำคัญคือผลกระทบของมันยิ่งใหญ่มาก จากการผิดพลาดทีละเล็กละน้อยตั้งแต่การจอดยานในที่ห้ามจอด นำไปสู่ความล้มเหลวของแผนอพยพที่เป็นทางรอดเดียวของฝ่ายต่อต้านในตอนนั้น
  • ประเด็นที่สอง การก้าวข้ามแนวคิดทางปรัชญาในหนังยุคเก่า ที่ว่าคนดีต้องสู้กับคนชั่ว ด้านมืดต้องสู้กับด้านสว่าง ในภาคนี้แสดงให้เห็นถึงความเลือนลางของเส้นแบ่งระหว่างขาวกับดำ แสดงความเทาของสงครามและตัวละครออกมา ทั้งในเรื่องของพ่อค้าอาวุธที่ขายอาวุธให้ทั้งสองฝ่าย, ตัวนักถอดรหัสที่ยอมขายความลับของฝ่ายต่อต้านเพื่อแลกกับทางรอดและผลประโยชน์ของตัวเอง ทีนี้มาลองคิดดูว่า “การต่อสู้เพื่อความถูกต้องและหลักการอันยิ่งใหญ่” กับ “การดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอด” อย่างไหนมันควรจะเลือกมากกว่ากันสำหรับคนธรรมดาที่ต้องหาเลี้ยงชีพ
  • รวมทั้งประเด็นเรื่องการสละชีพด้วย คือเมื่อก่อน Star wars มันมองเรื่องของการสละชีพเป็นการกระทำของวีรชนคนกล้า แต่มาภาคนี้มันเปิดมาด้วยว่าการกระทำแบบนี้มันสิ้นเปลืองทรัพยากรและได้ไม่คุ้มเสีย ยิ่งเป็นการแลกกับฝ่ายที่มีทรัพยากรเยอะมากๆ มากขนาดที่ว่าการเสียอาวุธทำลายล้างขนาดใหญ่ระดับดวงดาวไม่ได้ทำให้ฝ่ายต่อต้านเกิดความได้เปรียบแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายต่อต้านที่เสียกองยานไปเกือบทั้งกองกลับตกสู่สภาวะวิกฤตแทบจะถูกถอนรากถอนโคน




ศาสนาเจไดกับการวิวัฒน์ของแนวคิดทางศาสนาในปัจจุบัน

  • ในส่วนของการฝึกวิชาเจได ภาคนี้เรียกได้ว่าทันสมัยมากเพราะมันถอดแนวคิดของด้านมืดกับด้านสว่างของ Star wars ออกไปเลย ความผิดพลาดของลุค สกายวอล์คเกอร์ ที่เป็นจุดกำเนิดของ ไคโล เรน เป็นการตอกย้ำว่าแนวคิดแบบศาสนายุคเก่าที่แบ่งดีเลวชัดเจนและสุดขั้วอย่างการอยู่ด้านสว่างและเกลียดชังความมืดนั้นส่งผลอย่างไร ในความคิดเห็นของเรา เหตุผลหลักที่ไคโลเข้าร่วมกับสโนคไม่ใช่การถูกด้านมืดกลืนกินแต่คือการไม่ได้รับการยอมรับจากด้านสว่างและถูกผลักไสโดยอาจารย์ที่เป็นลุงแท้ๆของเขาต่างหาก
  • และประเด็นเรื่องด้านมืดและด้านสว่างก็ถูกทำให้แข็งแรงขึ้นอีกครั้งในส่วนของเรย์ เรย์นั้นไม่ได้มี concept ของด้านมืดหรือด้านสว่างของเจไดมาตั้งแต่ต้น การสัมผัสกับด้านมืดของเรย์ในครั้งแรกที่เข้าถึงพลังได้นั้นแสดงถึงการมองโลกด้วยสายตาที่ปราศจากอคติใดๆ และเรย์ก็ไม่ได้ถูกกลืนกินแม้จะกระโจนลงไปหาด้านมืดโดยเต็มใจก็ตาม จุดนี้เลยยิ่งเน้นเรื่องที่ว่าด้านมืดคือธรรมชาติ การถูกด้านมืดกลืนกินจนทำอะไรเลวร้ายเกินไปคือผลของการไม่ทำความเข้าใจธรรมชาติของพลังและอคติที่บังตาเท่านั้น 
  • พลังไม่ใช่ของเจได้หรือของซิธ พลังมันแค่มีอยู่ : ที่จริงพอได้ยินประโยคนี้มันทำให้นึกถึงการผูกขาดการตีความในเชิงศาสนาโดยองค์กรศาสนาเอง ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อไม่ให้มีการตีความบิดเบือนซึ่งคำสอนแม้สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านั้นล้วนบิดเบือนไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ก็ตาม สุดท้ายสิ่งที่เหลืออยู่ก็มีเพียงหลักการที่จะคอยกำจัดคนที่เห็นต่างออกไปและสร้างศัตรูเพิ่มเติมเท่านั้น ดังนั้นการให้การผูกขาดหลักการเข้าถึงพลังนั้นตายลงไปคงเป็นหนทางที่จะทำให้พลังกลับเข้าสู่สมดุลอย่างที่มันควรจะเป็นจริงๆสักที




Let the past die, Kill it if you have to

  • Let the past die. Kill it if you have to. It's the only way to become who you were meant to be น่าจะเป็นหนึ่งในประโยคที่เป็น Iconic ของไตรภาคนี้ก็ว่าได้ เป็นประโยคที่ออกมาจากปากของไคโล เรน ตอนชวนเรย์เข้ามาร่วมปกครองจักรวาลในตอนเกือบจบ แต่เรื่อง Let the past die นี่มันปรากฏเยอะมากๆในหนัง ในภาพรวมอย่างการมีประเด็นและการเล่าเรื่องที่ต่างออกไปจากหนัง Star wars ภาคก่อนๆก็เรื่องหนึ่ง, การที่ไคโล เรน ฆ่าสโนคและพยายามทำลายทุกอย่างที่เป็นความทรงจำสมัยยังไม่เข้าสู่ด้านมืดก็อีกเรื่อง นอกจากนี้มันยังมีเรื่องอดีตของอีกหลายคน เช่น อดีตอันรุ่งเรืองและเคยเป็นตำนานของลุค, อดีตของเจไดที่อยู่ในต้นไม้และตำรา, อดีตของเรย์ที่เจ้าตัวสงสัยและหาคำตอบมาตลอด  ที่จริงประเด็นเหล่านี้น่าจะมีการพูดถึงกันจนเป็นภาพจำของภาคนี้ไปแล้ว สุดท้ายไม่ว่าจะหยิบประเด็นอะไรออกมา คอนเซปท์หลักของภาคนี้ก็คือประโยคนี้ มันคือการรื้อโครงสร้างเพื่อสร้างใหม่ด้วยองค์ประกอบเดิม
  • ฉากเด็กดูแลคอกม้าที่ใช้พลังดึงไม้กวาดเข้าหาตัวในตอนจบเป็นการบอกว่าไม่ว่าใครก็มีพลัง และไม่ว่าใครก็สามารถกอบกู้กาแล็คซี่ได้ เป็นการบอกว่าเราจะ move on ไปจากตระกูล Skywalker เสียที เราจะไม่สนใจเรื่องของคำทำนายที่บอกว่าใครจะนำสมดุลคืนสู่พลังอีกแล้ว จากนี้คือการต่อสู้ของคน การต่อสู้ของหลักการ จากนี้มีแต่ความเป็นไปได้

Credit pictures from https://starwarsscreencaps.com/star-wars-episode-viii-the-last-jedi-2017

Summary

เหตุผลที่เราชอบภาคนี้ที่สุดมีสามารถสรุปได้ว่าคือการ deconstruction หรือการรื้อทำลายโครงสร้างเดิมแล้วสร้างใหม่ด้วยวัตถุดิบเดียวกันเพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆต่อไปในอนาคต แม้ว่าจะเป็นภาคที่ทุกอย่างมันดูจะหมดหนทางในตอนท้าย แต่ทุกสิ่งที่เรานำมาประกอบกันมันกลับทำให้เรารู้สึกถึง "ความหวัง" ที่ทางฝ่ายต่อต้านเน้นย้ำมาตลอดจริงๆ และไม่ใช่ความหวังที่ฝากไว้เฉพาะตัวบุคคล แต่เป็นความหวังต่อหลักการ, ความหวังต่อคนรุ่นใหม่ที่เรียนรู้ความผิดพลาดจากคนรุ่นก่อนๆโดยไม่ให้ความผิดพลาดและภาพจำในอดีตเหล่านั้นฉุดรั้งความเป็นไปได้ใดๆเอาไว้

It's the only way to become who you were meant to be

Comments