|
"เสียงเพรียกจากคธูลู" โดยสำนักพิมพ์เวลา |
Introduction
เพิ่งจะอ่านรวมเรื่องสั้นชุด “เสียงเพรียกจากคธูลู” จบ นับเป็นการอ่านสองรอบเพราะก่อนหน้านี้ได้ซื้อนิยายเลิฟคราฟต์ฉบับสมบูรณ์ใน Kindle มา จึงได้ลองอ่านเวอร์ชันภาษาอังกฤษแบบเต็มเรื่องแล้วค่อยมาตามอ่านเวอร์ชันภาษาไทยเพราะนิยายเวอร์ชันภาษาอังกฤษใช้ภาษาที่ค่อนข้างเก่า มีศัพท์และไวยากรณ์แปลกๆเต็มไปหมดจนเริ่มไม่แน่ใจตัวเองว่าที่อ่านจบมาได้เนี่ยรู้เรื่องจริงหรือเปล่า
เกริ่นสักเล็กน้อย หนังสือรวมเรื่องสั้นชุด “เสียงเพรียกจากคธูลู” นำเสนอเรื่องสั้นและนิยายแปลของ H.P.Lovecraft ที่คัดมาแล้วจำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ เดกอน, นครไร้นาม, คืนสู่เหย้า, เสียงเพรียกจากคธูลู และเรื่องสยองของดันวิช แปลโดยคุณ นภ ดารารัตน์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เวลา (https://www.facebook.com/TimePublishing)
My thought
พูดกันในเรื่องของการเขียนและเนื้อเรื่องก่อน อ่านแล้วรู้สึกว่าในฐานะของนิยายสยองขวัญแล้วมันไม่ค่อยดึงดูดใจเสียเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะขนบวิธีการเล่าเรื่องยังคงเป็นของยุคก่อนที่ดำเนินเรื่องอย่างเนิบช้าโดยเริ่มจากความประหลาดอย่างหนึ่งและค่อยๆใส่ความประหลาดเข้ามาทีละเล็กละน้อยระหว่างการดำเนินเรื่อง และความประหลาดที่ว่านี้จะเบ่งบานออกมาเป็นความสยองในตอนท้าย ซึ่งเป็นความสยองแบบนอกรีตหรือท้าทายอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นความสยองที่วัฒนธรรมเอเชียไม่เข้าใจ อารมณ์แบบ ทำไมพวกเราต้องรู้สึกสยองกับการที่รู้ว่ามีคนบูชาปลาหมึกหรือก้อนเนื้อหน้าตาประหลาดด้วย? หรืออาจเป็นเพราะเราโตมาในดินแดนที่มี Cult มากมายมหาศาลและไสยศาสตร์มนตร์ดำเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันก็เป็นได้ เลยกลายเป็นว่าความสยองในงานของ Lovecraft ถูกเจือจางด้วยกำแพงถึงสองชั้น จากวิธีดำนินเรื่องหนึ่งและจากความต่างวัฒนธรรมอีกหนึ่ง
ส่วนในแง่งานแปลคงไม่มีคำไหนที่จะบรรยายความรู้สึกได้ดีไปกว่า “ขอบคุณครับ” เพราะต้นฉบับภาษาอังกฤษอ่านยากมากด้วยลักษณะของภาษาและคำศัพท์ที่ใช้ แต่เวอร์ชันแปลภาษาไทยนั้นแปลออกมาได้ดีและไม่รู้สึกติดขัด เมื่อนำไปเทียบกับข้อความเดิมในต้นฉบับก็ไม่พบการแปลตกหล่นใดๆเลย ซ้ำยังมีการใส่ Footnote ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อหนังสือและอารยธรรมต่างๆที่ผู้เขียนกล่าวถึงในนิยายอีกด้วย แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ของผู้แปลมากๆ
Summary
โดยสรุป เราว่าที่จริงงานเขียน Lovecraft เป็นงานขายดีไซน์และขาย World setting แต่ไม่เน้นขายพล็อต ความสนุกไม่ได้อยู่ที่ลูกล่อลูกชนหรือการหักมุมในการดำเนินเรื่องแต่อยู่ที่การอ่านรายละเอียดของความประหลาดต่างๆที่ใส่เข้ามาในการดำเนินเรื่องที่เนิบช้าต่างหาก (ซึ่งก็บรรยายออกมาได้ดีเสียด้วย) ที่จริงถ้าเรื่องราวพวกนี้ถูกเขียนขึ้นในสมัยนี้มันจะไม่ได้ถูกพิมพ์ในฐานะนิยายด้วยซ้ำแต่น่าจะเป็นพวก Art book หรือ Lore book เสียมากกว่า
อย่างไรก็ตามการดำเนินเรื่องแบบเขียนไปเรื่อยๆแบบนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะแย่ไปเสียหมด มันทิ้งความรู้สึกบางอย่างติดเอาไว้หลังอ่านจบเป็นเวลายาวนานเหมือนเวลาอ่านวรรณกรรมรัสเซียที่ใช้วิธีเขียนคล้ายๆกัน หากสิ่งที่ติดหัวจากวรรณกรรมรัสเซียคือ “รัสเซียหนาวมาก หนาวเหลือเกิน จิบว๊อดก้าดีกว่า” นิยาย Lovecraft ก็จะมีสิ่งติดหัวประมาณว่า “พวกลัทธินอกรีต โอ้เหม็นเน่า พวกสิ่งต้องสาป โอ้บาปเหลือเกิน” อะไรประมาณนี้ติดอยู่ในหัวหรือแม้กระทั่งมีภาพเครื่องในเน่าเหม็นติดมาด้วยอีกต่างหาก เหมาะแก่การอ่านเพื่อเสริมสร้างอารมณ์และแรงบันดาลใจเป็นอย่างยิ่ง
Comments
Post a Comment