Skip to main content

Featured

[Wrap Up + Replay] 2400 Inner System Blue : Missing Cyber Doc

หน้าปกเกม 2400 : Inner System Blues Introduction เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนปีที่แล้วหลังจากที่เราห่างหายการรัน TRPG ไปนานราวๆ 3 เดือน เราคิดว่าจะลองรันแบบ Play by Post หรือการ TRPG ผ่านทางการพิมพ์หรือการตั้งกระทู้ดู น่าจะเหมาะกับไลฟ์สไตล์หลังจากที่สถานการณ์โควิดดีขึ้นจนมีเวลาว่างไม่มากเท่าแต่ก่อน หลังจากทำการค้นข้อมูลสักพักจากเว็บบอร์ดต่างประเทศ รวมทั้งคลิป Youtube ที่แชร์ประสบการณ์การ Play by Post ทั้งที่ประสบความสำเร็จและที่ล้มเหลว เราก็ได้เลือกระบบเกมและร่างพล็อตของเกมขึ้นมา หลังจากนั้นจึงรับสมัครผู้เล่นใน Discord ของกลุ่ม Onion Knight Table  และเล่นกันในกลุ่ม เริ่มเล่นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ลากยาวมาจนจบในช่วงเดือนธันวาคม รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน

[STORY] The Third year of "Bullet Journaling"

My Third Year of Bullet Journaling

เชื่อว่าครั้งหนึ่งหรือหลายครั้งที่คนเราจะต้องเคยสัมผัสกับการทำ Planner กันมาบ้าง ไม่ว่าจะอยากลองจัดระเบียบชีวิตหรือได้สมุดแจกฟรีมาก็ตาม ซึ่งโดยปกติเราก็ไม่ได้เขียนอะไรลงไปเยอะขนาดนั้น พอหมดปีก็พบว่ามีหน้าว่างมหาศาลเหลืออยู่ใน Planner และโยนไปใช้ปีหน้าไม่ได้เพราะว่ามีวันที่เขียนแปะไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นในยุคหลังๆเราจึงเห็นเหล่าสาวกเครื่องเขียนหันไปทำสิ่งที่เรียกว่า Bullet Journal กันมากขึ้น

สรุปสั้นๆ Bullet Journal เป็น "ระบบ" การทำ planner จากสมุดเปล่าที่วางโครงสร้างไว้อย่างหลวมๆเพื่อให้ผู้ใช้ได้ปรับเปลี่ยนส่วนประกอบต่างๆให้เหมาะสมกับการใช้งานของตัวเอง โดยใช้รูปแบบการจดบันทึกที่เรียกว่า rapid logging ซึ่งเป็นการจดบันทึกที่เน้นความรวดเร็วในการจดและแยกแยะข้อมูล โดยจดเป็นประโยคสั้นๆเป็นข้อๆ (Bullet) และแยกแยะประเภทของข้อมูลด้วยสัญลักษณ์ที่กำกับข้อมูลเอาไว้ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกจัดระเบียบภายใต้โครงสร้างหลักที่เรียกว่า Core Module 

ซึ่งนอกจากจะ "เขียนเท่าที่ใช้" แล้ว อีกสิ่งที่ทำให้ Bullet Journal นั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่คนรักเครื่องเขียน คือความอิสระในการตกแต่ง เพราะตัว Bullet Journal นั้น Set ขึ้นมาจากสมุดเปล่าๆ ดังนั้นอยากเติมอะไรก็เติมลงไปได้เลย ใช้จินตนาการกันให้เต็มที่ ใช้ Product ต่างๆของวงการ เครื่องเขียนใส่ลงไป ซึ่งเราแนะนำให้ไปลองค้นแฮชแท็ก #bulletjournal ใน Instagram หรือไม่ก็ลองไปดูชาแนลของตัวแม่แห่งวงการ Bullet Journal อย่าง AmandaRachLee แล้วจะพบว่าวงการนี้มีของเล่นเยอะไม่แพ้วงการฟิกเกอร์เลยทีเดียว

แต่ใน Entry นี้เราไม่ได้มาสอนทำBullet Journal แต่อย่างใด (เพราะคนสอนทำมีมากมายเหลือเกิน บางคนทำมาดีจนควรยกให้เป็น Reference แห่งวงการเลยทีเดียว) แต่เราจะแชร์ประสบการณ์การใช้ Bullet Journal มาช่วยในการจัดการกับเป้าหมายประจำปี (Yearly Resolution) ที่ทำเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จสักที ดังนั้นรายละเอียดและวิธีทำ Bullet Journal พื้นฐานเราจะขอละไว้ แต่สามารถไปศึกษาวิธีทำได้จากวิดิโอด้านล่าง หรือลองอ่าน บทความของคุณ Yothin  ดูก็ได้

อ้อ! แล้วก็ไม่อยากให้คาดหวังเรื่องความมุ้งมิ้งในการตกแต่งสมุดจากเรานะ โดยลำพังทำแค่ตัดเส้นกันพลาก็ยังขี้เกียจเลย

วิดิโอแนะนำการทำ Bullet Journal จากคุณ Ryder Carroll ผู้คิดค้นระบบนี้ขึ้นมา

คลิปสอนทำ Bullet Journal จากช่อง Natcharee


เราทำ Bullet Journal มาได้สามปีแล้ว เริ่มทำเพราะตามเพื่อนนั่นแหล่ะ แต่ก่อนหน้านั้นเราเคยมีสมุดเล่มเล็กๆเอาไว้เป็น To do list อยู่แล้ว คล้ายๆเป็น Mini Planner เลยถือโอกาสขยับมาเป็นสมุดที่ใหญ่ขึ้นและมีระบบระเบียบมากขึ้นเสียเลย (กับอีกเหตุผลนึงก็คือเผลอหลงเสน่ห์เสด็จแม่ Amanda ตอนวนเวียนไปดูวิดิโอสอนทำ Bullet Journal ของนางด้วยแหล่ะ)

โดยรวมก็ถือว่าช่วยในการจัดการเรื่องทั่วๆไปอย่าง to do list หรือการสรุปรายรับรายจ่ายได้ดีกว่าใช้สมุดเล่มเล็กๆที่ไม่ได้มีระบบ แต่เราไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการทำ Yearly Resolution เพราะมักเขียนลงไปแล้วทำได้ไม่สม่ำเสมอพอ ที่จริงคือแอบขี้เกียจและไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจเท่าไหร่นักกับการที่ทำไม่ได้จนคิดว่าจะกลับไปใช้สมุดเล่มเล็กๆจดง่ายๆมาทำ To do list แบบที่เคยทำก็คงไม่เลวเท่าไหร่

แต่ด้วยความที่ได้รับแจกสมุดกึ่ง Planner ของปี 2020 มา ซึ่งตอนนี้ก็ใกล้สิ้นปีและมีกระดาษเหลือมากมาย ลึกๆในใจก็เสียดายกระดาษสมุดอยู่ ถ้าจะทำแค่ to do list ก็ไม่ต้องใช้สมุดแบบนี้ก็ได้ ใช้ Post it หรือเล่มเล็กๆเอาเถอะจะได้ไม่เป็นภาระของเงินในกระเป๋าและชั้นหนังสือ และด้วยความเสียดายนี้เลยอยากลองใช้ Bullet Journal ให้คุ้มค่าบ้าง อยากลองทำ Yearly Resolution ให้สำเร็จบ้างแม้จะเหลือเวลาอีกแค่เพียง 3 เดือนสุดท้ายของปีก็ตาม

แต่ก่อนที่จะทำ เราว่าเราก็คงต้องรู้ก่อนแหล่ะว่าที่ผ่านมานอกจากความขี้เกียจแล้ว อะไรที่ทำให้เราไม่เคยประสบความสำเร็จในการทำ Yearly Resolution เลย นั่นทำให้เราต้องกลับมาดูบันทึกเก่าๆ ทั้งส่วนปฏิทินที่เราจดว่าวันนี้ออกกำลังกายอะไรและ Daily log ที่มี Tasks เกี่ยวกับ Yearly Resolution เขียนเอาไว้ ซึ่งปัญหาที่เราค้นพบจากชุดข้อมูลคือ เราแทบไม่มีการวางแผนทำอะไรกับ Yearly Resolution มาตั้งแต่แรกเลยนี่หว่า

ตารางสรุป "วันที่ได้อ่านหนังสือ" จาก Bullet Journal ของเรา

เป้าหมายกับแผน

แม้ว่าคอนเซปท์ของ Yearly Resolution ใน Future log จะมีไว้เพื่อเป็น Idea กว้างๆว่าในปีนี้อยากจะทำอะไรบ้าง แต่พอไปดูที่ตัวเองเขียนก็พบว่าเหมือนเขียนส่งๆจนจะเรียกว่าพอให้เป็น Idea ก็ยังรู้สึกกระดาก เช่นเขียนว่า "อยากออกกำลังกายให้ได้มากขึ้น" "อยากอ่านหนังสือให้ได้สักสัปดาห์ละวัน" คือเขียนเหมือนกับการบ่นลอยๆให้เพื่อนฟัง แผนก็ไม่มี ที่ค้นเจอจาก Daily log ก็พบว่าการทำ Tasks ที่เกี่ยวกับ Yearly Resolution นั้นเป็นการทำแบบ "นึกขึ้นได้เลยทำ" กับ "มีเหตุจำเป็นเลยทำ" (เช่น ช่วงใกล้สอบ)

ดังนั้นก่อนจะทำ Bullet Journal เราคงต้องมานั่งคุยกับตัวเองอย่าจริงจังหน่อยว่าตกลงปีนี้จะทำอะไรกันแน่ มีแผนว่ายังไง เพราะ Bullet Journal นั้นเป็นเพียงแค่ระบบที่ช่วยในการจัดระเบียบและ Visualize ข้อมูล ถ้าข้อมูลตั้งต้นอย่างเรื่องเป้าหมายและแผนยังไม่ชัดเจน (เอาจริงๆคือ ไม่มี) Bullet Journal ก็ช่วยอะไรไม่ได้

เป้าหมายแบบ S M A R T กับการวางแผน

จากประสบการณ์การเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ต้องทำงานแบบ Project based เมื่อเราพูดถึงแผน แนวคิดในการตั้งเป้าหมายที่เรียกว่า S M A R T จะเด้งเข้ามาในหัวทันทีเพราะแทบจะต้องใช้แนวคิดนี้กับทุก presentation ที่ทำเลยก็ว่าได้ โดยสรุปคือเราต้องตั้งเป้าหมายให้มีลักษณะดังนี้
  • S - Specific มีความเฉพาะเจาะจง อ่านแล้วต้องเข้าใจทันทีว่าต้องทำอะไร
  • M - Measurable วัดผลได้และประเมินได้ ที่สำคัญคือควรวัดเป็นตัวเลขได้
  • A - Achievable เป้าหมายไม่เกินจริงสามารถทำให้สำเร็จได้ 
  • R - Relevant สอดคล้องกับเป้าหมายในภาพรวม
  • T - Time bound มีกรอบเวลาที่ชัดเจนและเหมาะสม คือมี Deadline นั่นแหล่ะ
ซึ่งถ้านั่งทบทวนและคิดให้รอบคอบเพื่อทำเป้าหมายของเราให้ S M A R T นอกจากจะดูดีมีคอนเซปท์แล้วเราก็จะได้แผนแบบหยาบๆออกมาด้วย เราจึงต้องเขียน Yearly Resolution ใหม่ให้มันดู S M A R T ซึ่งก็ได้เป็น List ตามนี้
  • ทบทวนตำราสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 4 วัน วันละ 1 ชม.
  • ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 4 วัน เป็น Weight Training 2 วัน Cardio 2 วัน
  • บันทึกรายรับรายจ่ายให้เรียบร้อยภายในวันที่มีการใช้จ่ายเกิดขึ้น
  • เขียน Blog เดือนละ 1 entry
  • อ่านหนังสือที่นอกเหนือจากตำราสัปดาห์ละ 2 วัน ครั้งละ 50 หน้า หรือ 1 ชั่วโมง
หลักๆแล้วคือทุกเป้าหมายมีปริมาณที่ต้องทำและ Deadline ชัดเจน แค่อ่านก็พอมีภาพร่างคร่าวๆของแผนแล้ว จากนั้นเราค่อยเอาเป้าหมายที่อ่านแล้วดูฉลาดๆเหล่านี้เข้าไปใส่ใน Bullet Journal เพื่อปรับให้เข้ากับตารางชีวิตของเราอีกที กลายเป็นแผนที่พร้อมใช้และปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม

SMART GOAL


แผนกับระบบติดตามและประเมินผล

โดยปกติการแบ่ง Module ของ Bullet Journal จะไล่จากกรอบเวลาที่กว้างไปหากรอบเวลาที่แคบลง คือ Future (Yearly) log - Monthly log -  Daily log ซึ่งแต่ละ Module ก็เหมาะกับการวางแผนที่ไม่เหมือนกัน และใน Entry นี้เราจะเน้นไปที่การเตรียม Monthly log เป็นหลัก (เพราะเวลามันเหลือแค่ 3 เดือน จะมาทำ Future log ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรให้ทำแล้ว)

และนอกจากเรื่องแผน เราก็ต้องมีอะไรสักอย่างที่บอกเราได้ว่าเราได้ทำตามแผนที่วางไว้หรือเปล่า ทำสำเร็จมั๊ย เราจึงพ่วง Habit Tracker (ตารางติดตามพฤติกรรม) เข้าไปใน Monthly log ด้วยเลย โดยเอาพวก Tasks ที่เราเขียนมาแบบฉลาดๆตามหลัก S M A R T มาทำเป็นตาราง เวลาทำ Tasks เสร็จก็กากบาทลงไป เวลามาดูย้อนหลังก็จะเห็นภาพรวมของทั้งเดือนทันที นอกจากนี้ยังทำให้เราวางแผนโยกย้าย Tasks ได้ง่ายขึ้นกว่าการเขียนแบบวันต่อวันมาก

นอกจากนี้เรายังแบ่ง Monthly log ออกเป็น Weekly section ตาม Deadline ของ Tasks ส่วนใหญ่ ส่วนเหตุผลที่เลือกเป็นรายสัปดาห์เพราะเป็น Deadline ที่ไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป พอให้มีความรู้สึกว่าไฟลนก้นบ้าง และสามารถทำการ Look back เพื่อดูว่าต้องปรับแผนอะไรมั๊ยได้บ่อยๆ แถมยังได้รับกำลังใจเล็กๆน้อยๆเวลามามองดูสิ่งที่ทำสำเร็จในสัปดาห์นั้นๆอีก

ส่วน Daily log เรายังคงใช้เป็น To do list และตัวเตือนความจำ หรือใช้ในการเขียนรายละเอียดเพิ่มเติมของ Tasks จาก Monthly log เช่น วันนี้จะอ่านหนังสือเรื่องอะไร หรือว่าจะทำ phase ไหนของการเขียน blog เรียกว่าเป็นส่วนเก็บตกของ Habit Tracker ก็ไม่ผิดนัก

[Example] หน้าปกประจำเดือน ใส่ข้อมูลที่ต้องการตาม Track ในแต่ละเดือน

[Example] Habit Tracker ที่ทำหน้าที่เป็น Monthly log ไปในตัว

[Example] Daily log ไว้เป็น To do list และ Reminder


Summary

หลังจากที่ได้ลองกลับมาทำ Bullet Journal แบบจริงจังโดยใช้หลักการตามที่ได้เขียนเล่าไปก็พบว่าที่จริงแล้วเราก็ไม่ใช่คนขี้เกียจขนาดนั้นนี่หว่า ทำอะไรได้สม่ำเสมอกว่าเมื่อก่อนเยอะเลย ทั้งออกกำลัง, อ่านหนังสือ, เขียน Blog (แค่เรื่องประสบการณ์การทำ Bullet Journal นี่ก็ได้มาอีก entry นึงละ)

แต่สุดท้าย เราคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้การไล่ตาม Yearly Resolution ผ่านไปได้ด้วยดีในเดือนนี้คือ "ข้อมูล" ที่ถูกบันทึกไว้ในสมุดและระบบของสมุดที่สามารถดึงข้อมูลเหล่านั้นมากางตรงหน้าเราเพื่อวิเคราะห์ความผิดพลาดต่างๆได้ ดังนั้นถ้าอยากลองทำ Bullet Journal แต่ยังไม่รู้ว่าจะเอามันมาปรับปรุงอะไรในชีวิต เราว่าเริ่มใช้มันเป็นตัวบันทึกข้อมูลแล้วค่อยเอาข้อมูลพวกนั้นมานั่งคิดทีหลังก็ได้นะ

ลองทำแล้วอาจรู้สึกอินกับคำว่า Data is the new oil มากขึ้นก็ได้นะ เพราะสุดท้าย Oil ที่ขุดได้ เมื่อเอามากลั่นแล้วมันก็จะกลายเป็น Fuel ที่ขับเคลื่อนเราต่อไป

Comments