Model : Azrael from Batman : Curse of the White Knight
Toy line : DC Multiverse
Manufacturer : McFarlane
Year : 2020
|
McFarlane's DC Multiverse : Azrael from [Batman : Curse of the white knight]
|
Introduction
การสะสม Marvel Legends และของเล่นอื่นๆในไลน์ของ Hasbro มาพักใหญ่ๆก็ทำให้รู้สึกเบื่อเหมือนกัน แต่ครั้นจะย้ายไปทางสายของเล่นฝั่งญี่ปุ่นก็รู้สึกว่านับวันราคาจะยิ่งแรงขึ้นเรื่อยๆแถมมีตัวเลือกไม่มากนัก เราจึงตัดสินในที่จะอยู่กับไลน์ของเล่นของทางฝั่งอเมริกาต่อไป
สำหรับ McFarlane นั้นเราได้ยินชื่อมานานแล้ว ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ของเขาก็จะเป็นพวก Spawn หรือไม่ก็ฟิกเกอร์จากภาพยนตร์ต่างๆซึ่งไม่ได้อยู่ในขอบข่ายความสนใจของเราเท่าไรนัก รวมกับตัวงานที่เป็นคนละ scale กับ Marvel Legends และเน้นรายละเอียดมากกว่าจุดขยับซึ่งไม่ค่อยตอบโจทย์ในการเล่นทำให้เรามองข้ามค่ายนี้ไปตั้งแต่ทีแรก
จนเมื่อไม่นานมานี้เมื่อทาง McFarlane ประกาศว่าจะทำฟิกเกอร์ของ DC Comics ออกมา ซึ่ง Azrael เป็นหนึ่งในนั้นทำให้เราตัดสินใจลองสะสมไลน์ใหม่จากค่ายนี้โดยไม่ลังเล เพราะในสมัยที่เราสะสมแรกๆเราตามหาฟิกเกอร์ Azrael ของ Mattel (ไลน์ DC Classics) แต่ก็หาไม่ได้เลย ได้มาแค่ Azrael Batman ตัวสีแดงเท่านั้น
|
ในกล่องประกอบด้วย ฟิกเกอร์พร้อมอาวุธและเอฟเฟคท์, ฐานตั้ง และการ์ด
|
Batman : Curse of the White Knight
|
Pic from : https://thecomicmint.com/products/batman-curse-of-the-white-knight-1-cover-a-b-set |
ตัวละคร Azrael นั้นปรากฏออกมาหลายครั้งในซีรี่ย์ Batman แต่ตัวที่นำมาเป็นต้นแบบนั้นมาจาก Comic หัว "Curse of the White Knight" ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์เนื้อเรื่องใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับจักรวาลหลัก (non - Canonical) ซึ่งแนวคิดหลักคือการนำเสนอ Batman ในมุมมองที่มืดหม่นขึ้นและมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น
Reviews : รายละเอียด
|
รายละเอียดด้านหน้า
|
|
รายละเอียดด้านหลัง |
ครั้งแรกที่ได้จับกล่องก็พบว่าตัวฟิกเกอร์นั้นค่อนข้างหนัก อาจเพราะเป็น 7 inches scale ด้วยจึงหนักกว่า Marvel Legends ที่มีขนาดเล็กกว่า ตัวแพ็คเกจเป็นแบบกล่องผสมแบบแพ็คดั้งเดิม คือตัวฟิกเกอร์และ Accessories ต่างๆใส่มาในกล่อง ส่วนของแถมที่เป็นการ์ดประวัติกับฐานตั้งนั้นติดกับถาดกระดาษแข็งด้านหลัง ต้องใช้คัตเตอร์กรีดออกมา
รายละเอียดของตัวฟิกเกอร์เรียกได้ว่างานดีสมชื่อ McFarlane ดูจากการลงสีจะเห็นการเล่นแสงเงาและการ wash สีดำในเนื้อผ้า การลงสีสะอาดและครบถ้วน รวมถึงการซ่อนจุดขยับ "ตอนยืนเฉยๆ" ก็ทำออกมาได้ดี ทั้งหมดกลมกลืนไปกับงานปั้นโดยรวม แต่อย่างไรก็ตามความเนียนนี้ย่อมแลกมาด้วยความสามารถในการขยับที่ลดลง (ซึ่งจะคุยกันต่อในส่วนของจุดขยับ)
|
เสื้อผ้าและเกราะมีรายละเอียดดีมาก การลงสีก็มีการเล่นแสงเงาและ wash มาให้
|
ตัวฟิกเกอร์มีการผสมผสานของวัสดุที่หลากหลาย ชอบมากคือส่วนหัวที่ทำฮู้ดกับใบหน้าออกมาเป็นชิ้นส่วนเดียวไปเลย เวลาขยับทำให้ไม่รู้สึกว่าฮู้ดเป็นชิ้นส่วนแปลกปลอม เพราะโดยปกติสำหรับตัวฟิกเกอร์ที่ทำฮู้ดแยกชิ้นมามักจะมีปัญหาคือเวลาขยับแล้วฮู้ดมันจะลอย ทำให้ดูไม่เหมือนเป็นผ้าแต่เหมือนเป็นหมวกกันน็อคเสียมากกว่า
|
ส่วนหัวที่ทำข้อต่อรวมกับฮู้ดไปด้วยเลย
|
ในส่วนของแถมนั้น ตัวดาบลงสีมาดีมาก รายละเอียดบนด้ามดาบที่เป็นลายนูนต่ำพระเยซูถูกตรึงกางเขนก็หล่อออกมาได้คมชัดดี ชิ้นส่วนเปลวไฟที่ไว้ติดดาบเป็นสีใส ดูแพง และใส่กับดาบได้พอดี ไม่แน่นจนใส่แล้วสีถลอกหรือหลวมจนโพสท่าอะไรไม่ได้เลย
|
ประกับดาบลายพระเยซูถูกตรึงกางเขนแบบนูนต่ำ
|
|
เอฟเฟคท์ไฟสีใส
|
|
ตัวการ์ดที่เป็นภาพปกของ Curse of the white knight
|
|
ด้านหลังมีข้อมูลของตัวละคร Azrael อยู่ |
Reviews : จุดขยับ
อย่างที่เคยบอกไว้ว่าการออกแบบจุดขยับนั้นไม่ใช่จุดเน้นของ McFarlane เลย การออกแบบจุดขยับของฟิกเกอร์ตัวนี้จึงไม่ใช่เป็นไปเพื่อการทำให้ขอบเขตการขยับนั้นกว้างและโพสท่าได้หลากหลายที่สุดแต่เป็นการออกแบบเพื่อให้จุดขยับนั้น "แนบเนียน" ไปกับตัวฟิกเกอร์ เห็นรอยต่อให้น้อยที่สุด
แต่ถึงแม้ว่าจุดขยับจะไม่มากและไม่กว้าง แต่คุณภาพของจุดขยับนับล้ำหน้ามาก คือการออกแบบจุดขยับในบางจุดที่มีความซับซ้อนกว่า Action Figure สายอเมริกันทั่วๆไปมาก แต่ในบางจุดก็เป็นข้อต่อมาตรฐานปกติแต่ทำออกมาแข็งแรงมาก
|
ข้อต่อพยายามทำให้เนียนไปกับงานปั้น
|
|
ช่วงยืนเฉยๆจะเห็นข้อต่อน้อยกว่า action figure ไลน์อื่นๆ
|
ในส่วนของข้อต่อเล็กๆต่างๆเช่น เข่าและศอก แม้จะเป็นแบบ Single - Double joints ปกติแต่สิ่งที่แตกต่างคือเฟืองข้อต่อที่มีไว้เพื่อให้ฟิกเกอร์ค้างอยู่ในท่าโพสได้นั้นละเอียดมากและทำมาจากพลาสติกแข็ง ไม่สึกหรอง่าย (แต่เอาจริงๆมันก็ไม่สึกหรอเร็วอยู่แล้วเพราะว่ามันโพสท่าได้ไม่เยอะ)
|
ตัวเฟืองที่ช่วยเรื่องการโพส
|
|
ที่ข้อต่อเข่าก็มีเฟืองเช่นกัน
|
ส่วนลำตัวเป็น Diaphragm joints ขยับได้ลื่นไหลแต่ไม่หลวม มี butterfly joint มาให้ด้วยแต่ไม่ค่อยช่วยเรื่ององศาการขยับนัก ส่วนแขนก็ขยับต้นแขนได้ ข้อศอกเป็น Single Joint งอได้เกือบๆ 90 องศา ข้อต่อใหญ่และแข็งแรง เน้นให้กลมกลืนไปกับกล้ามเนื้อแขน
|
ข้อต่อแบบ Butterfly joint ที่จะมีหรือไม่มีก็ไม่สร้างความแตกต่าง |
ส่วนขาเป็นส่วนที่มีจุดขยับซับซ้อนที่สุด โครงสร้างคล้ายๆข้อต่อของพวก Transformer จะเห็นว่าจุดขยับทั้งการกางขา การหมุนต้นขา และการเตะหน้าเตะหลังถูกรวมมาอยู่ในชิ้นส่วนเดียวบริเวณต้นขาต่อกับลำตัว ดังนั้นในส่วนต้นขาจึงสามารถหล่อเป็นพลาสติกชิ้นเดียวแบบไร้รอยต่อได้เลย ทั้งยังครอบคลุมถึงบริเวณสะโพกด้วยจึงทำให้ช่องว่างที่เกิดจากข้อต่อนั้นมีน้อยมาก ส่วนหัวเข่าเป็น Double joints ปกติ
|
ข้อต่อส่วนต้นขาที่มีความซับซ้อนสูง
|
ข้อเท้าน่าจะเป็นส่วนที่เป็น pain point ที่สุดของพวกฟิกเกอร์แล้ว ซึ่งถ้าเป็น Marvel Legends เราจะเห็นการแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้การผสมผสานระหว่าง Hinge และ Swivel joint เพื่อให้ข้อเท้าสามารถเอียงได้ ซึ่งตัวฟิกเกอร์ Azrael ตัวนี้ก็มีการใช้ข้อต่อแบบนี้ แต่ด้วยตัวแหน่งของข้อต่อที่มีจุดประสงค์เพื่อให้มันแนบเนียนทำให้ข้อเท้าสามารถเอียงได้นิดเดียว ส่วนที่ปลายเท้าก็มีจุดขยับให้กระดกได้เหมือนเท้าคนจริงๆ แต่ก็ไม่ค่อยช่วยเรื่องการโพสเท่าไรนัก
|
ระยะการฉีกขาที่กว้างกว่าที่คิดเอาไว้มาก |
|
ข้อต่อที่ทำมาละเอียดแต่ไม่ช่วยเรื่องการโพสท่า หลักๆเป็นเพราะข้อเท้า
|
Summary : กล่าวโดยสรุป
สิ่งที่เราคาดหวังจากฟิกเกอร์ของ McFarlane คือรายละเอียดที่สวยงามและจุดขยับที่พอเหมาะพอควรและเน้นตั้งโชว์มากกว่าเอามาโพสท่าถายรูปสวยๆ ซึ่งก็ตอบโจทย์ทุกอย่าง รายละเอียดและการลงสีของ McFarlane เรียกได้ว่าละเอียดสวยงามจนเกือบเทียบเท่างาน Statue สวยๆได้ ส่วนจุดขยับนั้นเกินคาดนิดหน่อยในเรื่องของความซับซ้อนและความแข็งแรง โดยรวมนับเป็นการเปิดศักราชใหม่ที่ดีของ McFarlane ในการโดดมาจับงาน DC ซึ่งก็ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและอยากรู้เหมือนกันว่าทางค่ายจะผลักดันไลน์ DC นี้ไปได้ไกลแค่ไหน
|
โพสท่ายากไม่ได้ ได้ดีที่สุดประมาณนี้
|
|
รูปนี้แสดงระยะการเคลื่อนที่ของข้อต่อบริเวณลำตัว
|
|
ข้อต่อศอกที่ขยับได้ไม่มากถูกเสริมอีกนิดด้วยข้อมือ เพื่อให้โพสท่าจับดาบได้หลากหลาย |
|
เปรียบเทียบกับคนชุดแดงจากอีกค่าย จะเห็นว่าขนาดใหญ่กว่า Marvel Legends มาก
|
Comments
Post a Comment