|
ปก A Little History of Philosophy ฉบับ e-book |
หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไร
อย่างเช่นที่ชื่อหนังสือบอก A little history of philosophy เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ปรัชญาฉบับย่อ เล่าเรื่องราวของหัวข้อถกเถึยงทางปรัชญาจากนักปรัชญาทั้งหลายตั้งแต่ยุคกรีกโบราณจวบจนปัจจุบันโดยสังเขปให้พอรู้ว่าตั้งแต่อดีตนั้นมนุษย์เราถกเถึยงเรื่องอะไรกันบ้าง แม้ไม่ครอบคลุมทุกหัวข้อแต่ก็พอให้เห็นภาพรวมของข้อสงสัยเหล่านั้น ทั้งชีวิตที่มีความสุขคืออะไร, คนเราควรอยู่ร่วมกันแบบไหน, ศีลธรรมคืออะไร, มนุษย์เรามีเจตนำนงค์อิสระหรือไม่ ฯลฯ
ลักษณะการเขียน
หนังสือเล่าเรื่องแบบเรียงตามลำดับเวลาตามประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้าหากรู้จักการแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ยุโรปก็จะทำให้พอเข้าใจบริบทแวดล้อมและเข้าใจว่าทำไมคนในยุคนั้นๆถึงคิดอะไรแบบนั้นออกมา
ยุคกรีกโบราณ (ก่อนคริสตกาล)
เล่าเรื่องราวของสามนักคิดผู้เลื่องชื่อแห่งกรีกโบราณ โสเครตีส - เพลโต - อริสโตเติล ซึ่งความคิดของพวกเขาเหล่านี้ได้กลายมาเป็นพื้นฐานและผลิดอกออกผลเป็นปรัชญาแบบที่เราเห็นอยู่ในยุคปัจจุบัน ทั้งวิธีการคิดเพื่อเข้าถึงปัญญา (โสเครตีส), ความจริงแท้ - อุดมคติ (เพลโต) และการแสวงหาความสุขที่แท้จริง (อริสโตเติล) ซึ่งพออ่านไปเรื่อยๆจะเริ่มเข้าใจว่าทำไมหลายๆคนจึงบอกว่าการจะเข้าใจปรัชญาตะวันตกต้องรู้จักเพลโตเสียก่อน
ยุคกลาง (Madieval)
ที่คริสตจักรเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของผู้คน คำถามเรื่องศีลธรรมและการดำรงอยู่ของพระผู้เป็นเจ้ากลายมาเป็นหัวข้อหลักในการถกเถียง พอพ้นจากยุคกลางและยุคมืดก็มาถึงยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) ที่มีการพูดถึงเรื่องของการเมืองการปกครองมากขึ้น (แนวคิดเรื่องของ Order - Liberty) รวมทั้งการตั้งคำถามเกี่ยวกับการรับรู้โลกของมนุษย์ (คล้ายแนวคิดทางฝั่งปรัชญาตะวันออกเกี่ยวกับการปรุงแต่งของจิต) ส่วนแนวคิดเรื่องความสุขที่แท้ก็ยังมีให้เห็นบ้างประปราย
ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจนถึงยุคสงครามโลก
เป็นยุคที่เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในวิถีชีวิตของผู้คนโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม ปรัชญาในยุคนี้จะยึดโยงอยู่กับตัวมนุษย์,โครงสร้างทางสังคมและการดำรงชีวิตมากกว่าการถกเถียงกันเรื่องชะตากรรมหรือพระผู้เป็นเจ้า เป็นยุคที่เราจะคุ้นชื่อของนักปรัชญาหลายคนทั้ง มาร์กซ์กับแนวคิดคอมมิวนิสต์ที่พูดถึงการต่อสู้ระหว่างชนชั้นแรงงานและนายทุน, นีทเช่ เจ้าของวลี “พระเจ้าตายแล้ว” ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับค่านิยมและศีลธรรมโดยศาสนา, ฟรอยด์กับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ฯลฯ ซึ่งพออ่านแล้วก็จะพอเข้าใจแนวคิดหลายๆอย่างที่ยังคงถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย เรียกได้ว่าแนวคิดเหล่านี้กลายเป็นพื้นฐานของโลกในยุคปัจจุบันก็คงไม่ผิดนัก เป็นช่วงในหนังสือที่อ่านแล้วรู้สึกว่าเข้าถึงและมีอารมณ์ร่วมมากกว่ายุคอื่น ทั้งประเด็นเรื่องอิสรภาพและราคาของอิสรภาพ, เรื่องของ Moral Dilemma ต่างๆ, เรื่องแนวคิดของความยุติธรรมในการร่างกฏหมาย และจุดเริ่มต้นของการถกเถียงว่าเครื่องจักรสามารถคิดได้หรือไม่ในยุคของอลัน ทัวริ่ง ซึ่งแนวคิดเรื่อง A.I. ก็เริ่มมาจากยุคนี้
บทส่งท้าย : ปรัชญาในยุคปัจจุบัน
สำหรับบทสุดท้าย เราคิดว่ามันเป็นข้อสรุปที่มี Impact ต่อผู้อ่านมาก มันคือการทำให้เราเข้าใจว่าทำไมจึงมีคำเปรียบเปรยว่านักปรัชญานั้นคล้ายแมลงหวี่ที่คอยมาตอมสร้างความหงุดหงิดรำคาญ ซึ่งเราที่เป็นคนในยุคปัจจุบันที่ข้อถกเถียงในอดีตหลายเรื่องได้คลี่คลายและกลายเป็นกรอบความคิดปกติไปแล้ว เราจึงรับรู้แต่ไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษ ในบทสุดท้ายที่ชื่อ “Modern Gadfly” จึงได้นำเสนอประเด็นถกเถียงเชิงปรัชญาในยุคปัจจุบันที่ยังไม่คลี่คลายมานำเสนอ เป็นแนวคิดบางอย่างที่เราอาจยังไม่สามารถยอมรับหรือว่าเห็นพ้องด้วยได้ทั้งหมด ซึ่งพอได้อ่านจึงระลึกได้ว่านี่อาจเป็นความรู้สึกของคนที่ถูกโสเครตีสตั้งคำถามแปลกๆในสมัยกรีกโบราณก็เป็นได้ ความรู้สึกรำคาญปะปนกับความรู้สึกว่าสิ่งที่เชื่อมั่นมาตลอดกำลังสั่นคลอน นับเป็นบทปิดที่ทำให้เราได้รู้สึกและเข้าใจถึงการทำงานของปรัชญาที่เป็นมาตลอดสองพันกว่าปีที่ผ่านมานี้ได้อย่างสมบูรณ์
บทสรุป
หนังสือนี้อาจไม่ได้ช่วยทำให้เราเข้าใจพวกแนวคิดต่างๆลึกซึ้งขึ้น แต่มันช่วยให้เราเข้าใจถึงธรรมชาติของความสงสัยใคร่รู้และความไม่รู้ของตัวเราเอง ทุกครั้งที่อ่านเจอแนวคิดที่เราเคยขบคิดมาก่อนแต่หาคนคุยด้วยไม่ได้ก็ทำให้รู้สึกเหมือนเจอเพื่อนที่เข้าใจเรา บอกเราว่าไอ้เรื่องพวกนี้ก็ไม่ได้มีแต่เราที่คิดไปเองคนเดียวหรอกนะ และก็ไม่แปลกที่เราจะไม่รู้หรือไม่รู้สึกตะขิดตะขวงในบางเรื่องและรู้สึกคันรู้สึกรำคาญเมื่อจำเป็นต้องรับรู้แนวคิดใหม่ๆซึ่งขัดแย้งกับกรอบความคิดเดิมของเรา ซึ่งอย่างหลังนี้เองที่ทำให้เรากล้าที่ทำความเข้าใจกับสิ่งใหม่ๆที่อยู่นอกเหนือกรอบความคิด รวมทั้งกล้าที่จะตั้งคำถามและตรวจสอบความถูกต้องของความคิดความเข้าใจเดิมๆของเรา
อย่างที่โสเครตีสเคยได้กล่าวไว้ ว่าปัญญานั้นแท้จริงแล้วคือความเข้าใจถึงธรรมชาติที่จริงแท้ของการดำรงอยู่ของตัวเรา
Comments
Post a Comment