Skip to main content

Featured

[Wrap Up + Replay] 2400 Inner System Blue : Missing Cyber Doc

หน้าปกเกม 2400 : Inner System Blues Introduction เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนปีที่แล้วหลังจากที่เราห่างหายการรัน TRPG ไปนานราวๆ 3 เดือน เราคิดว่าจะลองรันแบบ Play by Post หรือการ TRPG ผ่านทางการพิมพ์หรือการตั้งกระทู้ดู น่าจะเหมาะกับไลฟ์สไตล์หลังจากที่สถานการณ์โควิดดีขึ้นจนมีเวลาว่างไม่มากเท่าแต่ก่อน หลังจากทำการค้นข้อมูลสักพักจากเว็บบอร์ดต่างประเทศ รวมทั้งคลิป Youtube ที่แชร์ประสบการณ์การ Play by Post ทั้งที่ประสบความสำเร็จและที่ล้มเหลว เราก็ได้เลือกระบบเกมและร่างพล็อตของเกมขึ้นมา หลังจากนั้นจึงรับสมัครผู้เล่นใน Discord ของกลุ่ม Onion Knight Table  และเล่นกันในกลุ่ม เริ่มเล่นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ลากยาวมาจนจบในช่วงเดือนธันวาคม รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน

Rฺeview : BNK 48 Girls Don't Cry


The Introduction

หลังจากหนังฉายไปแล้วจึงมาเขียนรีวิว คงช้าไปมากๆ แต่ระหว่างนั้นเรารู้สึกว่าเรามีเรื่องต้องคิดพอสมควรก่อนจะเขียนเกี่ยวกับหนังสารคดีเรื่องนี้ เพราะมันสามารถแตกประเด็นออกไปได้เยอะเกินไป ทั้งเรื่องของสังคมการทำงานหรือแม้กระทั่งเรื่องการ Objectify เพศหญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ ฯลฯ ตามที่รีวิวหลายสำนักก่อนหน้านี้เคยได้เขียนออกมา ที่จริงก็มีเรื่องคิดเยอะเหมือนกันเกี่ยวกับเรื่องชีวิตทำงาน แต่พอตกลงใจได้ว่าเราจะพยายามไม่มองชีวิตให้มันดูเป็นละครโศกขนาดนั้น เราจึงต้องตัดทอนหลายๆอย่างออกไป

เรื่องระบบเราก็จะไม่พูดถึงด้วยเช่นกัน เพราะในระหว่างที่หลายๆคนคิดว่าตัวระบบ push น้องๆมากเกินไปจากสภาวะการแข่งขันภายใน เหล่าผู้บริโภคก็ยังสนุกกับการเสพระบบนี้ ทุกคนดูตื่นเต้นกับ "เรื่องราว" การประกาศ Senbatsu ทุกคนยินดีกับการมี Kami Seven และส่วนหนึ่งก็ชอบที่จะเชียร์เหล่า Under girls เพื่อรอดูพวกเธอเติบโตต่อไป นับว่าเป็นเรื่องราวเรื่องหนึ่งที่มีส่วนประกอบที่หลากหลายประกอบกันจนครบสมบูรณ์ เราว่าสิ่งที่เรียกว่า "เรื่องราว" นั้นคือตัว Product ที่แท้จริงของ BNK 48

ส่วนเรื่องสัญญาจ้างงานที่เป็นธรรมหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็นที่เราสามารถไปรับรู้ได้(บางคนเรียกมันว่าเป็นสัญญาปีศาจด้วยซ้ำ) แต่ถ้าลองคิดดีๆ สัญญานั้นคือข้อตกลงที่ชัดเจนแล้วระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่มีการบังคับเซ็น ทุกคนยอมรับข้อแลกเปลี่ยนและความเสี่ยง ซึ่งในส่วนนี้เมื่อได้คุยกับใครหลายๆคนก็มีความเห็นตรงกันว่ามันก็เหมือนกับสัญญาจ้างงานของหลายๆอาชีพนั่นแหล่ะ เรา "แลกเปลี่ยน" บางอย่างออกไปเพื่อการมีชีวิตอยู่

หลังจากเกริ่นมาเสียนาน ได้เวลาเข้าเรื่องเสียที


The Review

GDC เป็นหนังสารคดีของวง BNK 48 เล่าตามเส้นเวลาตั้งแต่ช่วง Audition / Aitakatta / KFC และ สุดที่ Shonichi ผ่านบทสัมภาษณ์ของเมมเบอร์แต่ละคน ต่างวัย,ต่างสถานะและต่างมุมมอง สลับกับ Footage เหตุการณ์ต่างๆในช่วงเวลาดังกล่าว ตัวสารคดีจะปูให้รู้จักวงและระบบของวงให้ผู้ชมได้รู้โดยสังเขปก่อนเริ่มเล่าเรื่องต่อไป ดังนั้น GDCจึงเป็นสารคดีที่ใครก็สามารถดูได้ไแม้ไม่ได้ติดตามวงนี้มาก่อน

สิ่งที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้คือการเล่าเรื่อง เป็นวิธีการเล่าที่นำเอาข้อมูลจาก Source ที่ใหญ่มากอย่างบทสัมภาษณ์ของสมาชิกแต่ละคนมาเรียบเรียงและเล่าออกมาเป็นเส้นเรื่องเพื่อส่งข้อความบางอย่างที่ผู้กำกับต้องการออกไป ซึ่งถ้าหากติดตามการโปรโมตผ่าน Facebook : Nawapol Thamrongrattanarit จะมีประเด็นที่ต้องการเล่าหลักๆที่ใหญ่และเป็นสากลสองเรื่องคือ "ความเป็นมนุษย์" และ "Coming of age" ซึ่งเป็นแกนในการเล่าเรื่อง แต่ส่วนที่น่าสนใจคือรายละเอียดที่ถูกเติมเต็มด้วยบรรยากาศในการสัมภาษณ์ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ชวนให้ผู้ชมได้คิดต่อไปเรื่อยๆ เหมือนกับเวลาที่เราฟังใครสักคนเล่าเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่ง แต่พอเราสังเกตสีหน้า, น้ำเสียง, แววตา และการแสดงออกต่างๆ เราก็จะเริ่มคิดแล้วว่ามันมีอะไรมากกว่าข้อความที่พูดออกมาหรือเปล่าวะ คือเราจะคิดมากกว่าอะไรที่มันตามตัวอักษรไปไกลมาก

พูดถึงประเด็นหลัก เรื่องความเป็นมนุษย์ในความคิดของเรา เราว่ามันคือการมองดูว่ามนุษย์เราจะ React ต่อสถานการณ์หนึ่งๆอย่างไรโดยไม่ได้นำความคิด, ทัศนติ, ค่านิยม ฯลฯ มาเกี่ยวข้อง แล้วค่อยมองไปถึงกระบวนการที่หล่อหลอมให้คนหนึ่งคนเป็นอย่างที่เป็น (ที่จริงมันก็คือกระบวนการของผู้ที่เจริญแล้วล่ะนะ พยายามไล่ไปหาถึงที่มาที่ไปของการตอบสนองหนึ่งๆโดยพิจารณาสภาวะแวดล้อมต่างๆด้วย) ซึ่งในหลายๆครั้งเราก็จะอาศัยความเป็น Fictional ของสื่อต่างๆในการตีกรอบและ "สำรวจ" ความเป็นมนุษย์ภายใต้กรอบนั้นๆ ซึ่งกรอบของ GDC ที่ถูกวางไว้ในองก์แรกของหนังคือ "วัยรุ่นธรรมดาที่ก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงาน" ในช่วงนี้เราจะเห็นความแตกต่างในการรับมือที่ชัดเจนมากระหว่าง คนที่มี Passion แรงกล้า, คนที่เตรียมใจมาแล้ว, คนที่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร, คนที่รู้ว่าตัวเองอยู่ภายใต้อิทธิพลของอะไร (ซึ่งต่อไปจะขอเรียกคนประเภทนี้ว่า Meta) และสุดท้ายคือประเภทที่ไม่รู้อะไรเลย ซึ่งเราว่าคนส่วนใหญ่ก็เป็นแบบสุดท้ายนี้นะ เรามักก้าวเข้าไปในวงการอะไรสักอย่างด้วยความรู้ความเข้าใจที่ตื้นเขิน สุดท้ายแล้วเราก็ต้องรับมือกับ Back fire ต่างๆโดยที่เราอาจไม่พร้อมจะรับมันเลยก็ได้

ประเด็นเรื่อง Coming of Age เป็นไปในเชิงของการหาที่ทางให้ความรู้สึกของตนเองท่ามกลางความเป็นอยู่ที่ดำเนินไป ในส่วนนี้เราจะรับรู้จากการประกอบบทสัมภาษณ์ของเมมเบอร์แต่ละคน ซึ่งมันก็ทำให้เรารู้จักแต่ละคนมากขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย ในส่วนนี้น่าจะเป็นส่วนที่มีคนนำไปเขียนกันมากที่สุด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องชีวิตทำงาน, ความรู้สึกของคนที่อยู่ในตำแหน่งที่สูง, ความรู้สึกของคนที่อยู่ในตำแหน่งรั้งท้าย (ที่จริงเราเองก็นึกถึงเรื่องของ Conflict ระหว่าง Layer ในการทำงาน Operator - Engineer - Management อยู่เหมือนกัน คือคนในแต่ละ Layer มันจะมีความไม่เข้าใจกันอยู่) คือทุกคนแทบจะผ่านเรื่องพวกนี้มาหมดเมื่อก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน ดังนั้นมันจึงเป็นส่วนที่ทุกคน "อิน" ไปกับมันมากที่สุด


Meta : มองนอกประเด็น

หนังเรื่องนี้ตอบโจทย์ในเรื่องของความเป็นหนังนะ คือเล่าเรื่องได้ครบประเด็นที่ผู้กำกับต้องการและทำให้เกิดการตีความและตั้งคำถามที่เกินการนำเสนอไป ส่วนการตอบโจทย์อีกเรื่องคือในฐานะที่เป็นหนังของ BNK 48 คือการที่วางภาพลักษณ์ของไอดอลลงและนำเสนอในมุมของวัยรุ่นธรรมดามันเข้าถึงคนที่ไม่ได้ติดตามวงได้มาก คืออย่างน้อยก็ต้องมีการลดกำแพงกับอคติลงไปบ้างแหล่ะ ในทางหนึ่งนอกจากจะเป็นการโปรโมทวงแล้วยังเป็นการช่วยลดแรงกระแทกหลายๆอย่างที่น้องๆต้องเผชิญลงไปได้

นอกจากนั้น หลังจากที่ดูการประกาศเซมฯ Kimi wa Melody กับโปรเจคท์พิเศษของปูเป้ที่ต้อง Conduct concert พิเศษของเหล่าน้องๆ Under girls ทั้งหลาย (ที่ประกาศหลังหนังเข้าฉายไม่กี่วัน) ในใจเรามีคำเดียวที่ผุดขึ้นมา 
"Resource Utilization"


Feeling : รู้สึกยังไงบ้าง

คิดอยู่นานมากว่าควรจะเขียนอะไรเกี่ยวกับ Girls don't cry คือเราไม่ได้มีไอเดียอะไรเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของพวกความเป็นมนุษย์หรือระบบอะไรต่างๆสักเท่าไรนัก แต่ก็เข้าใจประเด็นที่ตัวหนังต้องการจะสื่อ โดยรวมเรารู้สึกเหมือนเป็นการที่มีเพื่อนหลายคนที่เจอหน้ากันบ่อยแต่ไม่สนิทกันมากอยู่ๆก็มานั่งเล่าเรื่องรันทดใจให้ฟังหลังเลิกงานเพราะเราดันเป็นคนที่นั่งอยู่ตรงนั้นพอดี (แม้ว่าความจริง คนที่นั่งอยู่ตรงนั้นพอดีคือผู้กำกับ) ก็จะรู้สึกตกใจนิดหน่อยแต่ก็นั่งฟังอย่างตั้งใจ ในใจก็คิดอยากจะพูดอะไรบางอย่างให้พวกเธอรู้สึกดีขึ้น แต่พอใคร่ครวญดูแล้วดูเหมือนว่าคำพูดใดๆคงไม่จำเป็น พวกเธอเข้มแข็งและหาทางออกให้กับปัญหาของตัวเองได้อยู่แล้ว สิ่งที่พวกเธอต้องการอาจมีเพียงแค่การรับฟังพวกเธอย่างตั้งใจและพยายามเข้าใจในสิ่งที่พวกเธอทำ เข้าใจในงานของพวกเธอ

ลึกๆเราก็เชื่อว่าเวลาคนที่เจออะไรมาหนักๆ บางทีเขาไม่ได้อยากได้คำแนะนำอะไรหรอก เขาแค่ต้องการพื้นที่ให้เขาได้นำความรู้สึกและความกังวลออกมาวางตรงหน้า เพื่อที่จะเข้าใจและจัดการความรู้สึกเหล่านั้นได้อย่างถูกที่ถูกทาง

Comments