Skip to main content

Featured

[Wrap Up + Replay] 2400 Inner System Blue : Missing Cyber Doc

หน้าปกเกม 2400 : Inner System Blues Introduction เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนปีที่แล้วหลังจากที่เราห่างหายการรัน TRPG ไปนานราวๆ 3 เดือน เราคิดว่าจะลองรันแบบ Play by Post หรือการ TRPG ผ่านทางการพิมพ์หรือการตั้งกระทู้ดู น่าจะเหมาะกับไลฟ์สไตล์หลังจากที่สถานการณ์โควิดดีขึ้นจนมีเวลาว่างไม่มากเท่าแต่ก่อน หลังจากทำการค้นข้อมูลสักพักจากเว็บบอร์ดต่างประเทศ รวมทั้งคลิป Youtube ที่แชร์ประสบการณ์การ Play by Post ทั้งที่ประสบความสำเร็จและที่ล้มเหลว เราก็ได้เลือกระบบเกมและร่างพล็อตของเกมขึ้นมา หลังจากนั้นจึงรับสมัครผู้เล่นใน Discord ของกลุ่ม Onion Knight Table  และเล่นกันในกลุ่ม เริ่มเล่นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ลากยาวมาจนจบในช่วงเดือนธันวาคม รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน

เล่าสู่กันฟัง : Dungeons&Dragons ผจญภัยในโลกแห่งเวทมนต์ผ่านบอร์ดเกมสุดคลาสสิค

โลกแห่งเวทมนต์ คมดาบและมังกร

เมื่อไม่นานมานี้ระหว่างที่เรากำลังท่องเว็บ ดูรีวิวของเล่นอะไรไปเรื่อยเปื่อย สายตาเราไปสะดุดกับของสะสมของกลุ่มบอร์ดเกมหรือเกมกระดาน สิ่งนั้นคือ Dungeons&Dragons (DnD) เป็นเกม Tabletop RPG ที่มีประวัติยาวนาน โดยผู้เล่น (Players) จะเล่นเป็นตัวละครสมมติที่ผู้เล่นสร้างขึ้นมาเอง ออกผจญภัยไปตามโครงเรื่องภายใต้ระบบการเล่นและกติกาของตัวเกมผ่านการดำเนินเกมของผู้เล่นอีกคนที่รับหน้าที่เป็นผู้คุมเกม (Dungeon Master) ความน่าสนใจก็คือ Players สามารถตัดสินใจว่าจะทำอะไรในสถานการณ์ต่างๆหรือแม้แต่กระทั่งระหว่างต่อสู้ได้โดยอิสระตามแต่จะคิดขึ้นได้ในเวลานั้น ส่วน Dungeon Master ก็ต้องคิดให้ทันว่าหลังจากผู้เล่นตัดสินใจทำอะไรไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ส่งผลกระทบกับการดำเนินเรื่องอย่างไร และคอยควบคุมให้เกมดำเนินไปอย่างราบรื่นโดยไม่หลุดไปจากโครงเรื่อง

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น ขอยกตัวอย่างของการเล่น DnD ในช่วงเนื้อเรื่องสั้นๆมาให้ชมกันตามลิงค์วิดิโอด้านล่าง แม้ไม่ได้ใช้ระบบทุกอย่างที่เกมมีแต่ก็พอทำให้เห็นภาพการเล่นได้ชัดเจนทั้งฝั่ง Dungeon Master และ Players ซึ่งรายการนี้เป็นรายการที่ วิน ดีเซล ไปร่วมเล่นเกม DnD โดยเขาใช้ตัวละครที่ชื่อว่า Klauder อาชีพ Witch Hunter ซึ่งเป็นชื่อตัวละครที่เขาสวมบทบาทในภาพยนตร์เรื่อง The Last Witch Hunter นั่นเอง

เริ่มเล่น Dungeons&Dragons จะต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง?

ต้องมี “Core book” เพื่อเป็นฐานข้อมูลและกติกาในการเล่น เรียกง่ายๆว่าเป็น "ระบบ" ของเกมนั่นเอง และยังสามารถซื้อ “Adventure book” หรือเนื้อเรื่องสำเร็จรูปจากทางผู้ผลิตมาเล่นได้เลยหากไม่ต้องการเขียนบทการผจญภัยด้วยตัวเอง โดย Core book ทั้งสามเล่มประกอบไปด้วย

1. Player’s Handbook :

เป็นกติกาและระบบต่างๆสำหรับ Player และฐานข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างตัวละคร เช่น เผ่าพันธุ์, อาชีพ, สกิล, ไอเทม ฯลฯ

Player's Handbook 5th edition. Pic from Amazon

2. Dungeon Master’s Guide :

เป็นกติกา, ระบบต่างๆและคำแนะนำสำหรับผู้เล่นที่เล่นเป็น Dungeon Master ในคู่มือจะแนะนำหลายอย่าง เช่น จะดำเนินเกมอย่างไร กติกาในการสร้างเหตุการณ์เป็นอย่างไร การสุ่มมอนสเตอร์ให้เผชิญหน้ากับ Player ทำอย่างไร ฯลฯ

Dungeon Master Guide 5th edition. Pic from Amazon


3. Monster Manual :

เป็นฐานข้อมูลของมอนสเตอร์ในเกม ซึ่งจะประกอบด้วยข้อมูลที่ใช้ในการเล่นอย่าง Status และ Skills ต่างๆของตัวมอนสเตอร์ รวมทั้งมีเนื้อเรื่องและคำอธิบายของมอนสเตอร์แต่ละตัวอีกด้วย เหมือนเป็นสารานุกรมของมอนสเตอร์นั่นเอง

Monster Manual 5th edition. Pic from Amazon


การดำเนินเกม Dungeons&Dragons

เมื่อมีพร้อมทั้งอุปกรณ์และคนเล่นแล้ว Players ต้องสร้างตัวละครตามกติกาและฐานข้อมูล ส่วน Dungeon Master ต้องคิดเนื้อเรื่อง คิดเหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆ หรือไม่ก็ศึกษา Adventure book ให้กระจ่างแล้วดำเนินเกมไปตามนั้น โดยอาศัยฐานข้อมูลที่เกมให้มา

การเล่นนั้นจะเริ่มที่ Dungeon Master เล่าเรื่องราวของเกม จุดประสงค์ของเกม เช่นเดินทางไปปราบจอมมารหรือออกไปตามหาสมบัติวิเศษหรืออะไรก็ว่าไป หลังจากนั้นจะอธิบายว่าตอนนี้ Players อยู่ที่ไหน กำลังจะทำอะไร เจอสถานการณ์อะไร Players ต้องคิดว่าจะทำอะไรกับสถานการณ์นั้นๆและทอยเต๋าเพื่อตัดสินว่าทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จ สำเร็จมากน้อยแค่ไหน หลังจากนั้น Dungeon Master ก็จะบอกว่า Players ทำอะไร ผลของการกระทำเป็นอย่างไรและเล่าถึงเหตุการณ์ต่อไป เกมจะดำเนินไปอย่างนี้เรื่อยๆผ่านทางการบอกเล่าเรื่องของผู้คุมเกมและการตัดสินใจของผู้เล่นไปเรื่อยๆจนจบ ซึ่งในการเล่นแต่ละเนื้อเรื่องก็อาจใช้เวลายาวนานพอสมควร ดังนั้นในการเล่นแต่ละครั้ง Dungeon Master จะเป็นคนกำหนดช่วงเนื้อเรื่องที่จะหยุดเกมเอาไว้เพื่อมาเล่นต่อในครั้งหน้าโดยบันทึกเรื่องราวและข้อมูลต่างๆเอาไว้โดยละเอียด เราเรียกการเล่นในแต่ละรอบนี้ว่า Session แต่ละ Session จะรวมกันเป็นเนื้อเรื่องทั้งหมดที่เรียกกันว่า Campaign เหมือนกับการสร้างซีรี่ย์ที่ประกอบด้วยตอนย่อยหลายๆตอน


ภาพบรรยากาศการเล่น Dungeons and Dragons จาก Chanel ของ Geek&Sundry


ทำไมเกมนี้ถึงน่าสนใจ

สิ่งที่เกมนี้ขายคือการขายฐานข้อมูล, กฏกติกาและระบบกับให้ผู้เล่น โดยให้ผู้เล่นนั้นไปแต่งเติมเรื่องราวการผจญภัยด้วยตัวเองหรือผจญภัยตามบทสำเร็จรูปที่มีขายก็ได้ โดยสิ่งที่ผู้เล่นจะรู้นั้นมีเพียงจุดประสงค์ของเกม โครงเรื่องแบบหลวมๆที่รอให้ผู้เล่นไปแต่งเติมรายละเอียดและทำให้มันสมบูรณ์ ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็อาจกล่าวได้ว่า DnD นั้นมีลักษณะสินค้าแบบเดียวกันกับ LEGO คือให้ชิ้นส่วนที่เป็นพื้นฐานมาแล้วให้ผู้เล่นใช้จินตนาการในการสร้างสิ่งต่างๆได้ตามใจนึก หรือจะเลือกซื้อแบบที่มี Theme สำเร็จรูปมาเล่นเลยก็ย่อมได้

Players จะได้เพลิดเพลินกับการสนทนาและการคลี่คลายปัญหาต่างๆ รวมถึงลุ้นระทึกว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นใน session ต่อไป จะจบ Campaign อย่างไร ส่วน Dungeon Master ก็จะสนุกไปกับการตอบโต้กับการตัดสินใจและการกระทำที่คาดเดาได้ยากของ Players ต้องคิดเหตุการณ์ต่อไปและต่อไปเพื่อดำเนินเกมไปตามโครงเรื่องให้ได้ เรียกได้ว่าผู้เล่นทั้งสองฝ่ายต่างต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ไม่สามารถคาดเดาได้เพื่อให้บรรลุจุดหมายของแต่ละคนและสรรค์สร้างเรื่องราวการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่และน่าประทับใจไปด้วยกัน


Sang Salawin
27 Dec 2016

Updated 9 Dec 2020


**NOTE** สามารถเข้าไปเยี่ยมชม Official Website ของ Dungeons&Dragons ได้ที่ http://dnd.wizards.com/

Comments