Skip to main content

Featured

[Wrap Up + Replay] 2400 Inner System Blue : Missing Cyber Doc

หน้าปกเกม 2400 : Inner System Blues Introduction เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนปีที่แล้วหลังจากที่เราห่างหายการรัน TRPG ไปนานราวๆ 3 เดือน เราคิดว่าจะลองรันแบบ Play by Post หรือการ TRPG ผ่านทางการพิมพ์หรือการตั้งกระทู้ดู น่าจะเหมาะกับไลฟ์สไตล์หลังจากที่สถานการณ์โควิดดีขึ้นจนมีเวลาว่างไม่มากเท่าแต่ก่อน หลังจากทำการค้นข้อมูลสักพักจากเว็บบอร์ดต่างประเทศ รวมทั้งคลิป Youtube ที่แชร์ประสบการณ์การ Play by Post ทั้งที่ประสบความสำเร็จและที่ล้มเหลว เราก็ได้เลือกระบบเกมและร่างพล็อตของเกมขึ้นมา หลังจากนั้นจึงรับสมัครผู้เล่นใน Discord ของกลุ่ม Onion Knight Table  และเล่นกันในกลุ่ม เริ่มเล่นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ลากยาวมาจนจบในช่วงเดือนธันวาคม รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน

Empire's Song : ข้อพิพาทจากจักรวรรดิแคนแคนและการติดตามไอดอลในทัศนะของข้าพเจ้า

Trooper คือชื่อเรียกตัวเองของเหล่าแฟนคลับของ Can BNK48

เรายังจำตอนที่เริ่มติดตามน้องๆได้

เราติดตาม BNK 48 มาได้ปีกว่าๆแล้วตั้งแต่ช่วงเปิดตัวแรกๆ ในตอนนั้นก็ไม่ได้รู้จักไอดอลตระกูล 48 มากมายนัก ติดตามเพราะความน่ารักของน้องๆเป็นหลัก โดยคนแรกที่เราตามคืออรอุ๋ง ตามมาด้วยเจนนิส เหตุผลหลักๆคือความน่ารักและการแสดงออกของน้องๆทั้งสองคนที่ดูไม่ไปในแนวญี่ปุ่นนิยม ทำให้เราที่ค่อนข้างมีความรู้สึกในแง่ลบกับ Culture ของทางฝั่งญี่ปุ่นรู้สึกสนิทใจที่จะติดตาม (คือโดยส่วนตัวแล้วเรารู้สึกว่า Culture ทางฝั่งนั้นมันค่อนข้าง...เยอะ คือมัน Emotional เกินไป) ซึ่งทุกวันนี้ "การมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมฝั่งญี่ปุ่นน้อยที่สุด"ก็ยังเป็นหลักเกณฑน์ที่เราใช้ในการเลือกว่าเราจะโอชิใคร

(ตลกและย้อนแย้งโคตรๆ นี่เรากำลังพยายามคัดกรองวัฒนธรรมญี่ปุ่นออกไปจาก Franchise ที่มาจากญี่ปุ่นเนี่ยนะ?)

ต่อมาเมื่อติดตามอยู่ห่างไปได้สักพักและโยกย้ายจาก Facebook เข้าสู่ Instagram เราก็บังเอิญเลื่อนเจอรูปสาวน้อยในชุดเวียดนามผ่านหน้า Feed โดย Account นั้นชื่อว่า Can.bnk48official ด้วยความที่ชอบชุดสาวเวียดนามเป็นทุนเดิมจึงกดเข้าไปดู สรุปคือได้ Following เพิ่มมาอีก 1 คน และเมื่อลองอ่านพวกบทสัมภาษณ์ต่างๆของแคนจึงได้รู้ว่าน้องคนนี้มาสายเพลงอินดี้และชอบ Star Wars เรียกได้ว่าตรงสายเราเลยก็ว่าได้ (ลองคิดดูสิว่าจะมีไอดอลในวงญี่ปุ่นสักกี่คนที่รู้จักวง Yellow Fang และร้องเพลง "เก็บผ้า" ได้) คือมันมีความรู้สึกว่าสไตล์ของน้องน่าจะถูกจริตเราแน่ๆ แถมน้องก็ยังชอบ Star Wars อีกต่างหาก เหล่าโอตะที่โอชิแคนจึงเรียกกลุ่มของพวกเขาว่า “จักรวรรดิแคนแคน : CanCan Empire” และเรียกตัวของพวกเขาเองว่าเป็น “Trooper” ของจักรวรรดิ ซึ่งเราว่ามันน่ารักดี ชอบ

อรอุ๋ง - Orn BNK 48 : รูปภาพจาก Facebook @bnk48official.orn

กรณีพิพาทจักรวรรดิแคนแคนและไฟบนหัวที่ไม่ยอมดับ

ที่จริงก็คงจะเป็นการติดตามแบบอยู่ห่างๆอย่างห่วงๆ และคงลอยตัวอยู่เหนือดราม่าต่างๆของ BNK48 ที่ส่วนใหญ่ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องกฏของวงที่เข้มงวดในระดับที่ว่ากันว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนเลยทีเดียว คือพวกเอ็งจะดราม่าและถกเถียงประเด็นนี้ก็เชิญเถียงกันไป ปล่อยเราเสพความน่ารักสดใสของน้องๆเงียบๆอยู่ที่มุมนี้ก็พอ แต่เมื่อต้นเดือนพฤษภาที่ผ่านมาไอ้ดราม่าตัวนี้มันดันไปเกิดกับน้องแคน น้องที่เราคิดว่าสไตล์ของน้องถูกจริตของเราที่สุด

กรณีพิพาทของแคนเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เล่าโดยสรุปคือน้องมี IG ส่วนตัวและการมี IG ส่วนตัวมันผิดกฏของวง ทำให้น้องต้องออกมาขอโทษผ่าน Official Account ของตัวเองและถูกต้นสังกัดลงโทษด้วยการพักงานหนึ่งเดือน คือเรื่องโดนทำโทษเนี่ยมันไม่ทำให้รู้สึกอะไรเท่าไหร่หรอก คือมีกฏแล้วผิดกฏก็ว่าไปตามนั้น ซึ่งเราก็ไม่ได้สนใจกฏของวงมากมายอะไร แต่ที่ทำให้หัวร้อนและเป็นเดือดเป็นร้อนค่อนข้างมากก็คือกระแสต่างๆและการตีข่าวของสื่อใหญ่หลายสำนัก อารมณ์คล้ายกับว่านี่จะชงจะขยี้ข่าวจนกว่าน้องจะจมดินไปเลยหรือยังไง

ประเด็นต่อจากนั้นคือความหัวร้อนมันคงอยู่ต่อเนื่องไปสองสามวัน แล้วเราก็รู้สึกว่าเรามอง BNK48 ไม่เหมือนเดิม มันก็เลยสงสัยว่าตกลงเราเป็นอะไร เราคาใจอะไรทำไมถึงไม่หายหัวร้อนเสียที และเพื่อหาเชื้อไฟที่สุมหัวเราจึงต้องย้อนกลับไปศึกษาและทำความเข้าใจกับการตลาดของไอดอลตระกูล 48 (นี่คือพยายามหาต้นตออย่างเป็นเหตุเป็นผลมากที่สุดแล้วนะ) โดยอาศัยบทความตามอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก แน่นอนว่าสำหรับวงที่มีประวัติความเป็นมายาวนานอย่างตระกูล 48 งานเขียนพวกนี้หาอ่านได้ไม่ยาก

เจนนิส - Jennis BNK48 : รูปภาพจาก Facebook @bnk48official.jennis

ลองทำความเข้าใจกับ Culture ตัวนี้กันเสียหน่อย

เริ่มจากการอ่านเรื่องของการก่อตั้งวงเพื่อทำความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานเสียก่อน จากการอ่านพบว่าไอดอลตระกูล 48 ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด "Idol you can meet" คืออยากเจอก็ได้เจอ เพียงไปที่เธียเตอร์และซื้อบัตร อะไรประมาณนั้น ซึ่งถ้ามองโดยภาพรวมแล้วการทำแบบนี้มันคือการจัดระยะห่างระหว่าง ศิลปิน - ผลงาน - ผู้ชมเสียใหม่

แรกเริ่มเดิมทีนั้นตัวของศิลปินและผู้ชมนั้นจะเชื่อมถึงกันจากผลงานเป็นหลัก ดังนั้นจึงค่อนข้างที่จะมีช่องว่างระหว่างผู้ชมและศิลปินที่ชัดเจน แต่ด้วยแนวคิด Idol you can meet ช่องว่างนั้นได้ลดลง และผู้ชมสามารถ Bypass ไปหาศิลปินได้เลย ดังนั้นตัว Product ของวงจึงไม่ใช่แค่เพียงผลงานเพลงและการแสดงแต่ตัวศิลปินเองก็กลายเป็น Product หลักไปด้วย ซึ่งการที่จะ Bypass นั้นจำเป็นที่จะต้องสร้างศิลปินที่มีลักษณะที่ "ควรค่าแก่การรักและเทิดทูน" ซึ่งความรักความเทิดทูนนี้เองที่กลายเป็นแรงขับอุปสงค์ของเหล่าโอตะทั้งหลาย ซึ่งกลไกการสร้างอุปสงค์นี้เกิดจากการทำงานร่วมกันของคำสามคำ Idolize, Romanticize และ Fantasy

Idol แปลตรงตัวคือ "รูปเคารพ" เป็นสิ่งที่มีไว้ให้คนเทิดทูนบูชา Idolize คือการสร้างภาพลักษณ์ที่เหมาะสม คู่ควรแก่การรักและเทิดทูนเป็น "Idol" ของเหล่าโอตะให้แก่น้องๆในวง ซึ่งทำให้เกิดการ Romanticize หรือการรับรู้บางสิ่งบางอย่างในลักษณะที่ดีเลิศเกินความเป็นจริงโดยตัวของโอตะ สองอย่างนี้จะก่อเกิดเป็น Fantasy หรือความคิดฝันอะไรสักอย่างขึ้นมา

ซึ่งพอมาถึงจุดที่ Fantasy เกิดขึ้นมาแล้วมันก็จะเหมือนกับการที่เราดูหนังรื่องหนึ่ง เราเสพความ Fantasy ของมัน และในจุดนี้เราก็จะรักน้องๆในวงเช่นเดียวกับที่เรารัก Darth Vader รัก Han Solo รัก Luke Skywalker คือเรารักความ Fantasy และ Fictional ของมัน ต่างกันตรงที่เรารู้ว่าตัวละครในหนังเป็นสิ่งสมมติและจับต้องไม่ได้ แต่น้องๆเป็นคนจริงๆ สามารถพบปะพูดคุยและสัมผัสได้ ดังนั้น Fantasy ย่อมเข้มข้นกว่าที่เรามีให้ตัวละครจากหนังแน่นอน

แคน - Can BNK48 และชุดเวียดนามของเธอ : ภาพจาก Facebook @bnk48official.can

แต่ปัญหาหลักๆก็คือถ้าเกิดรักษา Fantasy เอาไว้ไม่ได้ก็เท่ากับว่าสูญเสียความรักและความเทิดทูนและเสียอุปสงค์ไปในท้ายที่สุด ซึ่งสิ่งนี้เป็นความเสี่ยงที่การตลาดแบบอาศัยความรักความเทิดทูนต้องเผชิญ ดังนั้นจึงมีกลไกที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อจัดการความเสียงตรงนี้

อย่างแรกคือกฏที่ทำหน้าที่เป็น Damage Control และสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่า Fantasy ของท่านเราจะดูแลให้คงอยู่เอง

อย่างที่สองคือการกระจายความเสี่ยงโดยการมีเมมเบอร์หลายคน แต่ละคนมีฐานแฟนคลับของตัวเอง การสูญเสียฐานแฟนคลับของเมมเบอร์หนึ่งคนจะไม่ทำให้ทั้งวงล่ม เหมือนกับการลงทุนแบบแบ่งไข่ใส่ตะกร้าหลายๆใบนั่นแหล่ะ

ดังนั้นอาจเรียกได้ว่าระบบของไอดอลตระกูล 48 นั้นเป็นสิ่งที่ถูกคิดมาแบบ "ดีแล้ว ชอบแล้ว"

คนหัวร้อนเขาว่ายังไงกันบ้าง

ต่อมา เมื่อเข้าใจพื้นฐานของไอดอลตระกูล 48 แล้วก็ได้เวลาไปฟังเสียงจากเหล่าโอตะหัวร้อนกันบ้าง เราได้ลองเข้าไปอ่านกระทู้พันทิปหลายๆกระทู้และพบว่าส่วนใหญ่นั้นมีความรู้สึกว่าถูกน้องหักหลังและโกหก เพราะสิ่งที่น้องแสดงออกใน IG ส่วนตัวของน้องนั้นแตกต่างจากที่น้องแสดงออกใน Official Account เหมือนเป็นคนละคน อาจเรียกสภาวะนี้ได้ว่าเป็นการมาค้นพบว่าศิลปินตัวจริงไม่ได้เป็นอย่างที่เราหวังไว้เลยรู้สึกผิดหวังรุนแรง

ถ้าสำหรับศิลปินทั่วๆไปมันก็คงไม่รุนแรงมาก อาจเพราะส่วนหนึ่งคือเราก็ไม่ได้รู้จักตัวศิลปินดีเท่าไรนัก แต่สำหรับกรณีของไอดอลตระกูล 48 นั้นแตกต่างออกไป ต้นสังกัดเปิดช่องทางให้ผู้ชมได้ทำความรู้จักกับไอดอล (ในแบบที่เขาอยากให้เรารู้จัก) อย่างเต็มที่ ดังนั้นความผิดหวังมันจะรุนแรงกว่ามากๆ และบางคนก็ผิดหวังจนลืมตัวจนพลิกจาก Idolize เป็น Dehumanize ไปเลย คือมองน้องในฐานะอะไรสักอย่างที่นอกเหนือจากการเป็นมนุษย์คนหนึ่งไปแล้ว

ดังนั้นในกรณีนี้ ความหัวร้อนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความผิดของใคร? หมายถึงใครต้องมารับผิดชอบต่อความรู้สึกผิดหวังและหัวร้อนเหล่านี้? เราว่าไม่ใช่ตัวต้นสังกัด ตัวไอดอล หรือตัวระบบหรอก เพราะทั้งหมดนั้นถูกออกแบบมาแบบนั้นอยู่แล้ว และความหัวร้อนของโอตะก็เป็นสิ่งที่ถูกคาดคำนวณไว้ตั้งแต่ทีแรกและอาจเรียกได้ว่าเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของตัวระบบก็ว่าได้

เราว่ามันผิดที่ผู้ชมอย่างเรานี่แหล่ะ เรายอมก้าวเข้าไปใน Fantasy ที่ทำให้เราเข้าใจว่าเราได้ Bypass ไปรู้จักคุ้นเคยกับโอชิของเราแต่ดันลืมตัวไปว่าอยู่ใน Fantasy โลกแห่งความจริงกับโลกแห่งความฝันปะปนกันมั่วไปหมด สุดท้ายก็มาเป็นฝ่ายเดือดเนื้อร้อนใจเสียเอง

เล่ามาถึงตรงนี้ Quote ที่เราโปรดปรานที่สุดจาก Assassin's Creed นี่ลอยเข้ามาในหัวเลย
" Nothing is true, Everything is permitted "
มันแปลว่าไม่มีอะไรจริงหรอก ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันเป็นสิ่งที่ใครบางคนอนุญาตให้มันเกิด เหมือนเช่นใน "กรณีข้อพิพาทจากจักรวรรดิแคนแคน" นี้ กระแสสังคมและสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นคือส่วนหนึ่งของระบบที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี

จากนี้ไป?

ยิ่งพูดยิ่งคิดก็เหมือนภายเรือวนในอ่าง ในท้ายที่สุดแล้วการลอยตัวขึ้นมาจากความเดือดเนื้อร้อนใจเหล่านี้ก็คงหนีไม่พ้นการที่ตั้งสติและมองให้เห็นถึงธรรมชาติและ How the system works เหมือนกับการเลือกกินยาเม็ดสีแดงแล้วออกมาจาก Matrix นั่นแหล่ะ

เว้นระยะห่างระหว่าง ศิลปิน - ผลงาน - ผู้ชม ให้ได้อย่างที่มันควรจะเป็น นับสิ่งที่น้องๆแสดงออกผ่านสื่ออยู่ในหมวดผลงาน เท่านี้ก็สามารถติดตามความสดใสของน้องๆและลอยตัวอยู่เหนือดราม่าต่างๆไปได้แล้ว ไม่เดือดร้อนตัวเอง และไม่ต้องไป Dehumanize ใคร

สุดท้ายอยากฝากบทสัมภาษณ์ของคุณ 'ต่อ คันฉัตร' ใน Fungjaizine เอาไว้หน่อย เราว่ามันเป็นบทสัมภาษณ์ที่เป็นบทสรุปที่ดีทีเดียว ทั้งในเรื่องที่พูดถึงธรรมชาติของการติดตามศิลปิน, ประเด็นเรื่องการ Romanticize ของเหล่าโอตะที่มีต่อไอดอล และประโยคสั้นๆที่คล้ายเป็นข้อสรุปของประสบการณ์ทั้งหมดในการติดตามศิลปินของเขา
"ศิลปินมีไว้ชื่นชม ไม่ได้มีไว้รู้จัก"

ชุดภาพถ่ายของแคนในชุดเวียดนามที่มีวางขาย



Reference

  1. 60 ปี ‘อากิพี’ ผู้ก่อตั้ง คลับลูกแมว-48 Group-ซากะมิจิ และขับเคลื่อนวงการไอดอลญี่ปุ่น
  2. ครบรอบ 12 ปีไอดอลญี่ปุ่น akb48 จาก “แก๊งโชว์กางเกงใน” สู่ “ไอดอลระดับชาติ”
  3. กรณี ‘แคน BNK48’ การฟ้องร้องในความเสียหายจากสัญญาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
  4. ต่อ คันฉัตร กับการ ‘ติ่ง’ ศิลปินไปทั่วโลก และมุมมองต่อกระแสไอดอลในไทย

Comments